ภาคเอกชนไทย จับมือ เกาหลีใต้ ร่วมผลิตพลังงานไฟฟ้าจากน้ำ สร้างพลังงานทดแทนรูปแบบใหม่ ไร้คาร์บอน ไม่สร้างมลพิษแก่สิ่งแวดล้อม
ผลิตไฟฟ้าสีเขียว!! ภาคเอกชนไทย จับมือ เกาหลีใต้ ร่วมผลิตพลังงานไฟฟ้าจากน้ำ สร้างพลังงานทดแทนรูปแบบใหม่ ไร้คาร์บอน ไม่สร้างมลพิษแก่สิ่งแวดล้อม เผย ผลิต 1 ครั้งได้ทั้งน้ำสะอาด-ปุ๋ยไนโตรเจน เพิ่ม Carbon Credit ให้ไทย สร้างความมั่นใจ ดึงนักลงทุนต่างชาติไหลเข้า แทนที่ไปประเทศอื่น
วันที่ 25 มิถุนายน 2567 นายอชิรธร อิชย์ถาวร กรรมการผู้จัดการบริษัท มา คอเพอร์เรชั่น ออย จำกัด และผู้บริหารจาก LTECHUVC INC.นำโดย Mr. Seho KIM, Chairman/CEO of LTECHUVC INC. (ผู้มอบสิทธิ์ฯ ลงทุน/จำหน่าย)และ Mr. Jungdong AHN, Excultive Director of LTECHUVC INC. ภาคเอกชนจากประเทศเกาหลีใต้ ร่วมลงนามในสัญญาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อการผลิตและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าจากน้ำ หรือ GREEN AMMONIA ENERGY โดยมีนายกร ทัพพะรังสี อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานและร่วมเป็นสักขีพยานในการแถลงข่าวด้วย
นายอชิรธร กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่เหมาะสมกับการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากน้ำ เพราะภูมิศาสตร์ของไทย เป็นประเทศที่อยู่กึ่งกลางของทวีป ล้อมรอบด้วย 5 ประเทศ ส่งผลดีต่อความสะดวกเรื่องการขนส่งและในแง่ของการผลิตนั้น ประเทศไทยมีแหล่งวัตถุดิบหลัก คือ น้ำ อยู่จำนวนมาก ทำให้มุ่งหวังดึงดูดนักลงทุนใช้เป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ในอนาคตได้ไม่ยาก
โดยผู้บริหารทั้งสองบริษัทได้ร่วมแนะนำขบวนการผลิตพลังงานไฟฟ้ารูปแบบใหม่ จาก GREEN AMMONIA เพื่อให้ได้มาซึ่ง GREEN HYDROGEN จากน้ำ โดยจะใช้น้ำสะอาด 9 เมตริกตัน สำหรับการผลิตไฟฟ้าได้ 1 เมกะวัตต์ หรือจากน้ำคลอง 18 เมตริกตัน เพื่อให้ได้ไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์โดยประมาณ ซึ่งการผลิตไฟฟ้าจากน้ำ ถือเป็นพลังงานทดแทน 100% โดยไม่มีของเสีย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หลงเหลืออยู่ เพราะกระบวนการผลิตไฟฟ้าจาก Green Ammonia (NH3) ทำปฏิกิริยาเคมีกับน้ำ (H2O) ซึ่งจะทำให้ได้พลังงานไฟฟ้า, ปุ๋ยไนโตรเจน และน้ำสะอาด โดยไม่สร้างก๊าซคาร์บอนฯ นับว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างดี นับได้ว่าเป็นพลังงานทดแทนอย่างมั่นคงถาวรเต็ม 100% ส่งผลโดยตรงต่อคาร์บอนเครดิตของประเทศไทยในอนาคตด้วย
ทั้งนี้ มองว่าหากประเทศไทยเลือกที่จะใช้พลังงานไฟฟ้าจากน้ำเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าหลักให้กับนิคมอุตสาหกรรม ก็จะสามารถเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำคัญที่มีความแตกต่างให้กับการเลือกฐานการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศสมัยใหม่ที่ให้ความสำคัญกับคาร์บอนเครดิต สามารถโน้มน้าวการตัดสินใจมาลงทุนในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น แทนการไปลงทุนในประเทศใกล้เคียง ซึ่งจะเป็นการสร้างเม็ดเงิน สร้างงาน สร้างเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนให้กับประเทศไทยอีกทางหนึ่ง
25 มิถุนายน 2567