“รพ.ค่ายวชิราวุธ” จัดสาธิตเตรียม รพ.สนาม-ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ตอกย้ำความพร้อมรับมือภัยพิบัติทันท่วงที

 

 

 

 

 

 

โรงพยาบาลค่ายวชิราวุธ นครศรีธรรมราช จัดงานกิจกรรมสาธิตการจัดเตรียมโรงพยาบาลสนาม และทดสอบการช่วยเหลือในสถานการณ์ภัยพิบัติ ด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทันสมัย และตรงตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO) อาทิ ห้องฉุกเฉิน, ระบบอุปโภค-บริโภค, เครื่องปั่นไฟ, เครื่องกรองน้ำระบบ RO, เครื่องผลิตออกซิเจนจากอากาศ เพื่อสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยในเบื้องต้น พร้อมรับมือกับภัยพิบัติ และสามารถส่งต่อผู้ป่วยสู่การรักษาที่ทันท่วงที ให้กลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างดีที่สุดต่อไป

 

พันเอกชัยชาญ คำหาญ รองแพทย์ใหญ่ กองทัพภาคที่ 4 เปิดเผยว่า โรงพยาบาลค่ายวชิราวุธ เป็นโรงพยาบาลที่ได้รับมอบหมายจากกองทัพบกให้เป็นสถานพยาบาลที่เตรียมความพร้อมอยู่ตลอดเวลาสำหรับสถานการณ์ภาคใต้ รวมไปถึงเรื่องสาธารณภัยอื่น ๆ ดังนั้นเมื่อโรงพยาบาลฯ มีความพร้อมมากขึ้น โดยเฉพาะจากความสำเร็จในการยกระดับมาตรฐานการทำโรงพยาบาลสนาม ซึ่งใกล้เคียงกับระดับที่ 2 เราจึงได้ดำเนินการแสดงศักยภาพนี้ ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น หน่วยงานต่าง ๆ ของราชการที่มีความเกี่ยวข้องกับอุบัติสาธารณภัย จนถึงกลุ่มประชาชนทั่วไป ให้ได้เห็นและเกิดความมั่นใจในประสิทธิภาพของการให้บริการทั้งทางด้านแพทย์สนามและด้านโรงพยาบาลสนาม

สำหรับกิจกรรมตั้งโรงพยาบาลสนามโดยโรงพยาบาลค่ายวชิราวุธ ครั้งนี้ เป็นการสาธิตการจัดเตรียม ‘โรงพยาบาลสนาม ที่เทียบเท่าใกล้เคียงกับระดับ 2’ หรือโรงพยาบาลสนามที่มีความสามารถในการทำหัตถการในการผ่าตัดและช่วยชีวิตในเบื้องต้นได้กรณีคนไข้มีอาการวิกฤต โดยในองค์ประกอบของโรงพยาบาลสนามนี้ จะมีทั้งส่วนของ เตียงรองรับผู้ป่วยกว่า 20 เตียง สำหรับดูแลผู้ป่วยได้ไม่เกิน 72 ชั่วโมง, ห้องฉุกเฉิน, ห้องสุขา, ระบบอุปโภค-บริโภค, เครื่องปั่นไฟ และเครื่องทำลายขยะตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO), เครื่องกรองน้ำระบบ RO (Reverse Osmosis) ซึ่งสามารถใช้ในการฟอกไตได้ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีการสาธิตทดสอบการใช้โรงพยาบาลสนามเพื่อช่วยเหลือเหตุการณ์โคลนถล่ม ที่เป็นการแสดงความพร้อมรับมือในด้านภัยพิบัติ โดยมีเครื่องมือสำคัญอย่าง ‘เครื่องผลิตออกซิเจนจากอากาศ’ เข้ามาใช้ในโรงพยาบาลสนามนี้ด้วย นับเป็นเทคโนโลยีแรก ๆ ในประเทศไทย ที่เข้ามาตอบโจทย์การช่วยเหลือได้ครอบคลุม โดยเฉพาะกรณีเคลื่อนย้ายทางอากาศ จากเดิมที่เครื่องบินไม่สามารถแบกถังออกซิเจนขึ้นไปได้ เนื่องจากมาตรฐานด้านความปลอดภัย โดยเครื่องมือดังกล่าวสามารถผลิตออกซิเจนบริสุทธิ์จากอากาศ ได้ภายใน 1 ชั่วโมง ช่วยให้มีออกซิเจนพร้อมช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันที

โดยทั่วไปแล้ว โรงพยาบาลสนามจะออกดำเนินการ ต่อเมื่อโรงพยาบาลพื้นฐานหรือระบบสาธารณสุขในพื้นที่ไม่สามารถใช้การได้ เช่นในสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดภัยพิบัติน้ำท่วมทางภาคเหนือ ที่เราสามารถนำโรงพยาบาลสนามไปสับเปลี่ยนกำลังกับบุคลากรในพื้นที่ พร้อมทดแทนอุปกรณ์การแพทย์เดิมที่เสียหาย อีกทั้งด้วยมาตรฐานที่โรงพยาบาลค่ายวชิราวุธมี คือใกล้เคียงระดับที่ 2 นี้ จะมุ่งเป้าเดินหน้าทดสอบมาตรฐานกับองค์การอนามัยโลกต่อไป เพื่อให้ได้เป็นโรงพยาบาลสนาม ระดับ 2 อย่างเต็มตัว

“โรงพยาบาลค่ายวชิราวุธ มีความมั่นใจเป็นอย่างมากถ้าในกรณีที่เกิดภัยพิบัติ ทางโรงพยาบาลมีทีมแพทย์ และอุปกรณ์อย่างครบครันในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยเฉพาะโรงพยาบาลสนามที่เทียบเท่าใกล้เคียงกับระดับ 2 หรือโรงพยาบาลสนามที่มีความสามารถในการทำหัตถการในการผ่าตัด และช่วยชีวิตในเบื้องต้นได้ กรณีคนไข้มีอาการวิกฤต” พันเอกชัยชาญ กล่าวเสริมย้ำในตอนท้าย

3 ตุลาคม 2567


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai