ภาคธุรกิจร่วมระดมไอเดียหาแนวทางเร่งไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำในงาน CEO Forum : SCG ESG Symposium 2024

   47 องค์กรเอกชนจากธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจค้าส่ง ธุรกิจอสังหาฯ ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ธุรกิจน้ำตาล ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ ผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง นิคมอุตสาหกรรม และประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ผนึกพลังในงาน CEO Forum : SCG ESG Symposium 2024 ร่วมระดมสมองเฟ้น 6 แนวทาง ได้แก่ 1. การส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน 2. มุ่งขับเคลื่อนจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ 3. การออกแบบอาคารที่คำนึงถึงการลดก๊าซเรือนกระจก 4. การลดก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมก่อสร้าง 5. การส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และ 6. การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด และการใช้ ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ เป็นพื้นที่ทดลอง เพื่อเสนอรัฐบาลผลักดันประเทศไทยเดินหน้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และเพิ่มความสามารถการแข่งขันให้กับประเทศ

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า เพื่อการผลักดันแผนการเปลี่ยนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เอสซีจีได้ชวนตัวแทนภาคธุรกิจเข้าร่วมให้ข้อเสนอแนะ และหาแนวทางความร่วมมือ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ Net Zero ตลอดจนสร้างโอกาสและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยผลการระดมสมองใน 6 หัวข้อ ดังนี้

1. มุ่งขับเคลื่อนการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ (Waste Management) การนำของเหลือใช้มารีไซเคิลให้เกิดมูลค่าสูงสุดเป็นวิธีจัดการที่ดีที่สุด โดยปัจจุบันพบว่าเศษวัสดุเหลือใช้ในประเทศไทยถูกนำไปรีไซเคิลน้อยกว่าร้อยละ 20 จึงเสนอ 2 ทางออก คือ บริหารจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ตั้งแต่ต้นทางผ่านการคัดแยกเพื่อให้รีไซเคิลง่ายขึ้น โดยเริ่มจากการขอความร่วมมือจากภาคเอกชนภายในพื้นที่หรืออาคารต่าง ๆ นอกจากนี้ ภาครัฐควรออกกฎข้อบังคับ โดยเริ่มจากตลาดค้าส่งเป็นต้นแบบ จากนั้นจึงขยายไปยังภาคส่วนอื่น ๆ ก่อนออกกฎหมายบังคับการคัดแยก และการเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งหน่วยงานในการบริหารการจัดเก็บภาษี Extended Producer Responsibility (EPR) ด้วยวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนในการนำภาษีที่ได้ไปบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ให้เกิดประสิทธิภาพและโปร่งใส

2. การส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน (Sustainable Packaging) การใช้บรรจุภัณฑ์จากวัสดุรีไซเคิล คือทางออกที่ยังคงมีข้อจำกัดหลายประการ โดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหาร ที่บรรจุภัณฑ์ยังไม่สามารถคงความยาวนานของอายุสินค้า ดังนั้น ภาครัฐบาลจึงควรมีนโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการ เช่น ด้านภาษี หรือด้านการลงทุนการทำวิจัยให้ภาคเอกชน เพื่อพัฒนาบรรจุภัณฑ์จากวัสดุรีไซเคิลที่ใช้ได้จริงในราคาเข้าถึงได้ นอกจากนี้ รัฐบาลควรเน้นสร้างการรับรู้ของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน เช่น การออกแบบหลักสูตรการศึกษาที่ปลูกฝังเยาวชนคนรุ่นใหม่เห็นถึงความสำคัญของการร่วมกันดูแลและรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์จากวัสดุรีไซเคิลในระยะยาว

3. การส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก (How to Raise Awareness and Support SMEs Towards Green Transition SMEs) จากผลวิจัยพบว่า SMEs มีข้อจำกัดเรื่องทรัพยากรบุคคลและเงินทุน จึงแนะนำให้ SMEs มองว่า ESG คือโอกาสในการทำธุรกิจ และมองหาตลาดและผู้บริโภคกลุ่มใหม่ ๆ ที่มีความต้องการสินค้ารักษ์โลก  อีกทั้งหากผู้ประกอบการเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด   ก็จะช่วยลดต้นทุน และเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าอีกด้วย ขณะเดียวกันภาครัฐเองควรสนับสนุนให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อ และให้ Green Priority เพื่อช่วย SMEs เร่งปรับตัวให้ทัน เพื่อไม่สูญเสียโอกาสทางธุรกิจในอนาคต

4. การออกแบบอาคารที่คำนึงถึงการลดก๊าซเรือนกระจก (GHG and Waste Reduction in Construction Design)เสนอการจัดการ 3 ช่วง ตั้งแต่ (1) ต้นน้ำ โดยกระตุ้นให้ผู้ออกแบบอาคารคำนึงถึงการลดก๊าซเรือนกระจกทั้ง Embodied carbon ที่เกิดจากการใช้วัสดุก่อสร้าง และ Operational carbon ที่เกิดจากการใช้พลังงานในช่วงการบริหารใช้งานอาคาร       (2) กลางน้ำ ให้รัฐบาลมอบสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี หรือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำระหว่างการก่อสร้างอาคารคาร์บอนต่ำ หรือมีการให้ค่า Floor to Area Ratio (FAR) เพิ่มขึ้นร้อยละ 5-10 สำหรับอาคารที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอาคารสีเขียว (LEED) และ (3) ปลายน้ำ การจัดการวัสดุก่อสร้างเหลือใช้ให้สามารถนำกลับเข้ากระบวนการรีไซเคิลให้ได้มากที่สุด

5. การลดก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมก่อสร้าง (GHG and Waste Reduction in Construction Value Chain) อาคารทุกหลังมี Carbon Footprint of Products ที่สูง ใช้พลังงานมาก และปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่การก่อสร้าง จนถึงการบริหารอาคาร ดังนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน โดยภาคเอกชนผู้ก่อสร้างควรใช้วัสดุก่อสร้างคาร์บอนต่ำ และถ่ายทอดองค์ความรู้และความสำคัญของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปยังผู้รับเหมา เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ในขณะที่ภาครัฐควรมีแนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับอาคารที่ใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อให้สามารถนำคาร์บอนเครดิตไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่น หรือเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเจ้าของอาคารต่อได้  

6. การใช้ ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ เป็นพื้นที่ทดลองสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ (Energy Transition & Saraburi Sandbox) จังหวัดสระบุรี เป็นพื้นที่ผลิตปูนซีเมนต์ปริมาณมาก จึงจำเป็นต้องมุ่งเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาดทั้งในกระบวนการผลิต และการขนส่ง ซึ่งภาคเอกชนต้องร่วมมือกัน เช่น ผู้ผลิตรถไฟฟ้าร่วมมือกับผู้ติดตั้งหัวชาร์จรถไฟฟ้า เป็นต้น ขณะที่ภาครัฐต้องเข้ามามีบทบาทในการจัดหา และส่งมอบพลังงานสะอาดแก่ภาคเอกชน เพื่อสร้างระบบนิเวศ “Green Infrastructure” รวมถึงการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้อย่างยั่งยืนในพื้นที่ด้วยแนวทาง Waste to Material ด้วยการนำเทคโนโลยีมาช่วยให้วัสดุเหลือใช้เกิดมูลค่าสูงสุด และเกิดการขยายผลของสระบุรีแซนด์บ็อกส์ไปสู่จังหวัดอื่น ๆ  เช่น อยุธยา

“นับเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญที่องค์กรเอกชนชั้นนำของไทย ที่มีผลประกอบการรวมกันคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.25 ล้านล้านบาท ร่วมผนึกกำลัง หาทางออก เพื่อเร่งเปลี่ยนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำให้เกิดขึ้นได้จริง สร้างโอกาสและเพิ่มความสามารถการแข่งขัน เพื่อเศรษฐกิจไทยที่เติบโตยั่งยืน  เพราะ ยิ่งเร่งเปลี่ยน ยิ่งเพิ่มโอกาส” นายธรรมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติม

18 ตุลาคม 2567


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai