ส่องกลยุทธ์ “เอสซีจี” เร่งบุกตลาดใหม่ ชูอาเซียนเรือธง ตอบโจทย์สร้างธุรกิจแข็งแกร่ง

   หลังการประกาศผลประกอบการปี 2567 ของ “เอสซีจี” ไม่เพียง “การรักษากระแสเงินสดและการสร้างสุขภาพองค์กรให้แข็งแรง” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารธุรกิจที่เอสซีจีกำลังดำเนินการอยู่ ท่ามกลางความผันผวนทางเศรษฐกิจที่ไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญ อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่น่าจับตา คือ “การเร่งรุกตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพสูง” โดยเฉพาะภูมิภาคอาเซียนที่มีแนวโน้มเติบโตสูง การเพิ่มความหลากหลายของธุรกิจ พร้อมการสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง สร้างมูลค่าเพิ่มได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ย้ำถึงจุดยืนในการดำเนินธุรกิจว่า ปี 2568 นี้ เอสซีจีจะยังคงมุ่งขับเคลื่อนองค์กรฝ่าความท้าทายรอบด้าน ด้วยการสร้างสุขภาพองค์กรให้แข็งแรง และการเร่งรุกตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพสูง “เอสซีจี มุ่งตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า พร้อมเร่งมองหาโอกาสในตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นตลาดอาเซียนที่กำลังเป็นดาวรุ่งที่เราเข้าไปดำเนินธุรกิจมาแล้วหลายปี เนื่องจากเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ ทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภคในประเทศนั้น ๆ รวมทั้งเป็นโอกาสในการส่งออกไปยังประเทศและภูมิภาคอื่น ๆ ขณะเดียวกันยังเดินหน้าสร้างการเติบโตต่อในตลาดใหม่ ๆ อย่างสหรัฐอเมริกาที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 3 ของโลก ทวีปยุโรปที่เป็นตลาดสำคัญของสินค้ารักษ์โลก และภูมิภาค SAMEA ที่มีค่า GDP เฉลี่ยมากกว่า 70% และมีประชากรรวมกันมากกว่า 40% ของโลกด้วย”

อาเซียน ภูมิภาคดาวเด่นที่น่าจับตา

กลุ่มประเทศอาเซียนถือเป็นตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตสูง ตามที่ ‘ธนาคารพัฒนาเอเชีย’ (Asian Development Bank - ADB) ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจของอาเซียนในปี 2568 จากเดิม 4.5% เป็น 4.7% โดยเฉพาะ ‘เวียดนาม’ ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 7-8% จากรัฐบาลที่ผลักดันการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment – FDI) และแรงสนับสนุนจากกำลังซื้อในประเทศ ขณะที่ ‘อินโดนีเซีย’ ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 5-6% ก็เป็นอีกตลาดขนาดใหญ่ที่รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง อย่างแผนจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ เร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และสร้างเมืองหลวงใหม่ ‘นูซันตารา’ ทำให้ทั้ง 2 ประเทศมีแนมโน้ม GDP เติบโตกว่าค่าเฉลี่ยโลก

เอสซีจี จึงให้ความสำคัญกับภูมิภาคอาเซียนอย่างมาก เห็นได้จากสินทรัพย์รวมของเอสซีจี ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 ที่กว่า 46% เป็นสินทรัพย์ในอาเซียน (นอกเหนือจากไทย) โดยเฉพาะในเวียดนามและอินโดนีเซีย ที่ถือเป็นเรือธงของกลยุทธ์สร้างการเติบโตของเอสซีจี เพราะอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจข้างต้น ย่อมนำมาซึ่งแนวโน้มความต้องการสินค้าบริการที่มากขึ้นตามไปด้วย

กลุ่มเคมิคอลส์ : รุก HVA ควบคู่บริหารต้นทุนแข็งแกร่ง

แม้ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในภูมิภาคจะมีการแข่งขันรุนแรงขึ้นจากกำลังการผลิตใหม่ ๆ แต่กลุ่มเคมิคอลส์โดย ‘SCGC’ หรือ ‘SCG Chemicals’ ผู้นำตลาดเคมีภัณฑ์ครบวงจรระดับภูมิภาค ก็ได้เร่งผลักดันนวัตกรรมมูลค่าเพิ่มสูง (HVA) รวมทั้งการบริหารจัดการกระแสเงินสด ต้นทุน และเงินทุนหมุนเวียนอย่างระมัดระวัง เพื่อให้ธุรกิจคงความสามารถในการแข่งขันได้อย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะการดำเนินโครงการ ‘Long Son Petrochemicals (LSP)’ โครงการปิโตรเคมีครบวงจรแห่งแรกในเวียดนาม เพื่อผลิตสินค้าป้อนสู่ตลาดเวียดนามและส่งออกไปยังต่างประเทศ ที่ล่าสุด ได้เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีทั่วโลกในระยะยาว พร้อมช่วยลดก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต ด้วยการ ‘เพิ่มวัตถุดิบก๊าซอีเทน’ โดยทำสัญญาจัดหาวัตถุดิบก๊าซอีเทนระยะยาวเป็นผลสำเร็จ ประมาณ 1 ล้านตันต่อปี เป็นเวลา 15 ปี และเช่าเหมาเรือขนส่งก๊าซอีเทนระยะยาวแล้ว 3 ลำ ส่วนอีก 2 ลำกำลังเร่งดำเนินการ พร้อมสร้างถังเก็บและปรับปรุงโรงงานให้พร้อมรับก๊าซอีเทนได้ภายในปี 2570 โดยโครงการนี้ใช้แหล่งเงินทุนภายในเอสซีจี

กลุ่มแพคเกจจิ้ง : ขยายสินค้าที่เติบโตตามผู้บริโภค เพิ่มความร่วมมือระหว่างธุรกิจ

ขณะที่กลุ่มแพคเกจจิ้งโดย ‘SCGP’ มีสินค้าหลากหลายที่ทำตลาดในอาเซียน อาทิ กระดาษบรรจุภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์กระดาษและพอลิเมอร์ และบรรจุภัณฑ์อาหาร เนื่องจากตลาดภายในประเทศในอาเซียนมีความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และสินค้าอุปโภคบริโภค ส่งผลให้ยังรักษาความเป็นผู้นำส่วนแบ่งตลาดบรรจุภัณฑ์ในอาเซียนได้

SCGP มีการเพิ่มศักยภาพการให้บริการบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในอาเซียน ผ่านการควบรวมกิจการ (Merger & Partnership) และการขยายธุรกิจ เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน ทั้งกระดาษบรรจุภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์กระดาษและพอลิเมอร์ และบรรจุภัณฑ์อาหาร และผสานความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างบริษัท (Integration) ด้วยการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี การขยายฐานลูกค้า และจัดหาวัตถุดิบ เพื่อยกระดับขีดความสามารถการดำเนินงาน อย่างการร่วมทุนกับ ‘Fajar’ ผู้ผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกในอินโดนีเซีย เนื่องจากเป็นประเทศที่มีตลาดแข็งแกร่งและมีศักยภาพที่จะมุ่งสู่การเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจระดับโลก นอกจากนี้ ยังมีการร่วมทุนกับ ‘Starprint Vietnam JSC’ ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษแบบพับได้ (Offset Folding Carton) และแบบคงรูป (Rigid Box) คุณภาพสูงในเวียดนาม ที่มีฐานลูกค้าหลักเป็นบริษัทระดับชาติและระดับโลก รวมทั้ง ‘Duy Tan’ ผู้ผลิตสินค้าบรรจุภัณฑ์พอลิเมอร์แบบคงรูป (Rigid Packaging) ชั้นนำและสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ในบ้าน เช่น อุปกรณ์และภาชนะบรรจุอาหาร ฯลฯ ที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย

อีกทั้งยังมีการพัฒนานวัตกรรมสินค้าเพื่อรุกตลาดต่อเนื่อง รวมถึงการเพิ่มโอกาสเข้าตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพสูงอย่าง Healthcare Supplies ด้วยการลงทุนใน ‘บริษัทวีอีเอ็ม (ไทยแลนด์) จำกัด หรือ VEM-TH’ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กลยุทธ์สร้างการเติบโตในธุรกิจบรรจุภัณฑ์วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ และอุปกรณ์สำหรับใช้ในห้องปฏิบัติการ ที่มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นด้วย

กลุ่มซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง : เดินหน้าสินค้ารักษ์โลก ตอบความต้องการคุณภาพ ราคาดี

ด้านสินค้าของเอสซีจีในกลุ่มซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ก็ได้รับปัจจัยบวกที่ดีจากแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจอาเซียน โดยเฉพาะ ‘ปูนคาร์บอนต่ำ’ ที่เอสซีจีได้เปิดตัวเป็นรายแรกในเวียดนาม ขณะที่ปูนซีเมนต์แบรนด์ท้องถิ่น (Local Brand) เช่น แบรนด์ ‘BEZT’ ในอินโดนีเซีย หรือ ‘ADAMAX’ ในเวียดนาม ที่คุณภาพและราคาเหมาะสม ก็สามารถทำตลาดตอบโจทย์ลูกค้าได้ครอบคลุมมากขึ้น

ส่วนธุรกิจร้านค้าปลีกวัสดุก่อสร้างก็มีแนวโน้มเติบโต ‘SCG Distribution and Retail’ จึงมีแผนขยายสาขาร้านค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง ‘Mitra10’ ในอินโดนีเซีย จากปัจจุบัน 56 สาขา เป็น 100 สาขา ภายในปี 2573 และ ‘SCGD’ หรือ ‘SCG Décor’ ยังเปิดร้านขายกระเบื้องเซรามิกและสุขภัณฑ์ ‘V-Ceramic’ ที่ภาคใต้ของเวียดนาม รวมทั้งเดินหน้าก่อสร้างโครงการผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มสูงอย่างกลุ่มกระเบื้องพอร์ซเลน ที่มีจุดเด่นด้านความสวยงาม แข็งแรง เป็นที่นิยมในเวียดนามด้วย

นอกจากนี้ ‘SCGJWD’ ยังเข้าไปเชื่อมต่อด้านโลจิสติกส์ โดยนอกจากบริการขนส่งและจัดเก็บสินค้าทั่วไปแล้ว ยังขยายบริการคลังสินค้าห้องเย็น จัดเก็บ และขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิทั่วอาเซียนเพื่อรองรับการเติบโตของภูมิภาคนี้อีกด้วย “เอสซีจี เชื่อมั่นว่าการปรับตัวและขยายสู่ตลาดใหม่ ๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนนี้ จะทำให้ศักยภาพการแข่งขันในปี 2568 ของเอสซีจีแข็งแกร่ง และสู้กับความท้าทายต่าง ๆ พร้อมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนได้” นายธรรมศักดิ์ กล่าวปิดท้าย

แม้การดำเนินธุรกิจในปัจจุบันจะมีความท้าทายหลายด้าน แต่องค์กรที่สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ อย่างการขยายไปยังตลาดใหม่ ๆ ของเอสซีจี จะไม่เพียงช่วยสร้างการเติบโตในระยะยาวอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนให้กับองค์กร แต่ยังช่วยยกระดับมาตรฐานการดำเนินธุรกิจให้สามารถสร้างคุณค่าให้กับเศรษฐกิจ ผู้คน สังคม และสิ่งแวดล้อมในทุกประเทศที่เข้าไปดำเนินกิจการได้อย่างแน่นอน

19 กุมภาพันธ์ 2568


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai