รัฐ-เอสซีจี สานพลังประชารัฐ เปิดโมเดล “บึงบางซื่อ” พื้นที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชนเมือง
นับเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน ผ่าน “โครงการสานพลังประชารัฐ-การพัฒนาพื้นที่บึงบางซื่อ” ภายใต้การพัฒนาร่วมกันของหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น บริษัท เอสซีจี สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) การรถไฟแห่งประเทศไทย สำนักงานเขตจตุจักร สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กรุงเทพมหานคร และกรมธนารักษ์ รวมถึงชุมชนบึงบางซื่อ
เป้าหมายการเข้ามาพัฒนาพื้นที่ชุมชนบึงบางซื่อแห่งนี้ เนื่องจากเกิดปัญหาการย้ายถิ่นฐานของประชากรที่เข้ามาอาศัยอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการขยายตัวของชุมชน ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่ 5 ชุมชน 250 ครัวเรือน หรือ มีประชากรอาศัยอยู่ 1,300 คน และก่อให้เกิดปัญหาเรื่องของสิ่งแวดล้อม ขาดการเข้าถึงระบบสาธารณูปโภค และชุมชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน จนนำไปสู่ความเหลือมล้ำทางสังคม และกลายเป็นแหล่งพื้นที่เสื่อมโทรม
ทั้งนี้พื้นที่ดังกล่าวในอดีตเคยเป็นแหล่งวัตถุดิบของเอสซีจี ที่เคยใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญเพื่อการผลิตปูนซีเมนต์ของประเทศมาอย่างยาวนาน บนเนื้อที่ และบึงน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 61 ไร่ ดังนั้นการจะพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางสังคม ชุมชน และเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้กำหนดแผนการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ เสนอต่อ คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเห็นชอบตั้งแต่ปี 2559 นำมาสู่การดำเนินงานในโครงการ “สานพลังประชารัฐ-การพัฒนาพื้นที่บึงบางซื่อ”ที่จะเริ่มพัฒนาในปีนี้และจะแล้วเสร็จในปี 2563 ที่มีการเปิดตัวไปแล้วอย่างเป็นทางการ เมื่อเร็วๆนี้ โดยมีพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดโครงการฯ
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
แนวทางการพัฒนาโครงการฯดังกล่าว เพื่อให้เกิดผลและการพัฒนาที่สมบูรณ์ ได้เปิดให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดรูปแบบเพื่อการยกระดับชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นทั้งเรื่องการมีส่วนร่วมการออกแบบที่อยู่อาศัย การรวมกลุ่มเพื่อสร้างอาชีพ การส่งเสริมระบบการออมของชุมชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังมีการพัฒนาบึงบางซื่อให้เป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อให้เกิดประโยชน์กับสังคมภายนอก ทั้งในด้านการเป็นสาธารณะแห่งใหม่ ของกรุงเทพฯ และเป็นพื้นที่แก้มลิง เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของชุมชนในอนาคต
จากการเดินหน้าของโครงการดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงการนำนโยบายประชารัฐไปสู่แนวทางการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มองว่า “การเปิดโครงการสานพลังประชารัฐ พื้นที่บึงบางซื่อในครั้งนี้ ต้องการเห็นความก้าวหน้าของความร่วมมือทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน และ ภาคสังคม นี้คือการนำพาประเทศไปข้างหน้าที่รัฐบาล ไม่สามารถดำเนินการทุกอย่างได้เพียงลำพัง ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชนจะต้องเข้าใจและให้ความร่วมมือ
พื้นที่บึงบางซื่อที่อาศัยอยู่กันทุกวันนี้ไม่สามารถอยู่ได้อีกต่อไปเพราะทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง และจะส่งผลต่อความเป็นอยู่ของลูกหลานในอนาคต ดังนั้นแนวทางการพัฒนาโครงการนี้ จะเป็นโครงการต้นแบบให้กับชุมชนอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันกรุงเทพฯ มีชุมชนแออัดมากถึง 2,000แห่ง ที่ผ่านมาอยู่กันแบบ ไม่มีระเบียบ จึงนำมาสู่การแก้ไขปัญหาการบุกรุกไม่ให้มีการขยายตัวอีก และยังเป็นการสร้างความเท่าเทียมของโอกาส การเข้าถึงระบบสาธารณูปโภค และการดูแลคนมีรายได้น้อย ซึ่งจะต้องหารูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมในแหล่งพื้นที่อื่นๆ สำหรับพื้นที่แห่งนี้ มีความพร้อมที่จะพัฒนามากกว่าพื้นที่อื่นๆเพราะเป็นพื้นที่ที่ทางเอสซีจีได้ยกพื้นที่ให้กับชุมชนได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง”
สำหรับโครงการฯดังกล่าว ถือเป็นพื้นที่ร่วมพลิกฟื้นชุมชนแออัดรอบบึงบางซื่อ ที่มีเป้าหมายยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน 4 ด้าน ได้แก่ ต้นแบบโครงการสานพลังประชารัฐ ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน,ต้นแบบที่อยู่อาศัยชุมชนเมืองจัดสรรพื้นที่อย่างคุ้มค่ามีพื้นที่ส่วนกลางใช้ประโยชน์ร่วมกัน, ต้นแบบการมีส่วนร่วมของชุมชน เปิดโอกาสร่วมกันออกแบบที่อยู่อาศัยที่ลงตัวกับทุกวิถีชีวิตกระตุ้นให้เกิดการออมในชุมชน และต้นแบบบึงน้ำสวนสาธารณะ เพื่อเป็นแก้มลิงและแหล่งพักผ่อนของคนกรุงเทพฯ
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
ด้านนายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี กล่าวว่า วัตถุประสงค์ ของโครงการฯ เอสซีจีมุ่งหวังให้เป็นต้นแบบการยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน คือ หนึ่งใน “ต้นแบบโครงการสานพลังประชารัฐ”ที่ขับเคลื่อนโดยพลังประชารัฐอย่างแท้จริง ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับชุมชน “ต้นแบบที่อยู่อาศัยชุมชนเมือง”ที่คำนึงถึงการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าจากที่ดินใจกลางเมืองที่มีราคาสูง ออกแบบให้เหมาะกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน จึงจัดให้มีพื้นที่ส่วนกลางโดยมีข้อตกลงร่วมกันเพื่อลดโอกาสความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้พื้นที่ โดยได้เปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการออกแบบตามวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การออกแบบบ้านที่เหมาะสมกับจำนวนสมาชิก การวางผังบ้านที่ให้ความเป็นธรรมในเรื่องทำเล การประกอบอาชีพ และข้อจำกัดส่วนบุคคล
สำหรับแผนการพัฒนาแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชน และการพัฒนาบึงน้ำสาธารณะโดยการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชน จะก่อสร้างที่พักอาศัยทั้งสิ้น 197 ยูนิต เป็นบ้านทาวน์เฮ้าส์ 60 ยูนิต ราคา 600,000 บาท อาคารชุดพักอาศัย 4 ชั้น 3อาคาร133 ยูนิต ที่จะมีราคา 500,000-550,000 บาทและบ้านกลางสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่มีผู้ดูแล ไม่มีรายได้ อีก 4 ยูนิต โดยจัดพื้นที่ส่วนกลางสำหรับกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งระบบสาธารณูปโภคส่วนกลาง คาดว่าในส่วนของที่พักอาศัยจะแล้วเสร็จในปี 2563 จากนั้นจึงจะพัฒนาบึงน้ำสาธารณะเพื่อการใช้ประโยชน์ต่อไปโดยใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 600 ล้านบาท
เสียงจากชุมชน “บึงบางซื่อ”
นายมานะ เพ็งคาสุคันโธ
“นายมานะ เพ็งคาสุคันโธ” กรรมการกลุ่มออมสินริมน้ำมั่นคง ผู้นำชุมชนกลุ่มริมน้ำบึงบางซื่อ กล่าวว่า ปัจจุบันชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่แทบทั้งหมด ไม่มีหลักทรัพย์ หรือหลักประกันใดๆที่จะมีบ้านเป็นของตนเอง ไม่สามารถกู้เงินได้ พอมีโครงการสานพลังประชารัฐ-การพัฒนาพื้นที่บึงบางซื่อเข้ามา เริ่มแรกมีหลายคนที่ยังไม่เข้าใจถึงการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว ว่ามีประโยชน์ต่อคนในชุมชนอย่างไร แต่ถึงวันนี้ทุกคนรู้สึกดีใจ เพราะโครงการดังกล่าวยกระดับคุณภาพชีวิตให้ทุกคนในชุมชนกว่า 1,000 คน มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และไม่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็น “ผู้บุกรุก” อย่างในอดีตอีกแล้ว สามารถมีกำลังซื้อบ้านและมีกรรมสิทธิ์เป็นของตนเอง ทั้งยังสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับทุกคนในชุมชนอีกด้วย
คุณยายชม้อย เจริญสิน
“คุณยายชม้อย เจริญสิน” อายุ 82ปี หนึ่งในผู้ที่ได้รับสิทธิ์ โดยได้สิทธิ์ที่อยู่อาศัยในรูปแบบ “บ้านกลาง” ซึ่งเป็นบ้านสำหรับผู้สูงอายุที่เข้าเกณฑ์ที่กำหนดไว้นั่นคือ ไม่มีรายได้และอยู่บ้านตามลำพัง ได้บอกเล่าเรื่องราวการเข้ามาตั้งรกรากในพื้นที่แห่งนี้ว่า เข้ามาอาศัยอยู่ตั้งแต่สมัยยังแรกรุ่น นับระยะเวลากว่า50ปีแล้ว ไม่คาดคิดว่าจะได้รับโอกาสดีๆที่ภาครัฐและเอสซีจีหยิบยื่นมาให้ ปัจจุบันอยู่กับหลานรวม3คน ส่วนลูกแยกย้ายไปทำมาหากินนอกพื้นที่ การได้บ้านใหม่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นเป็นอย่างมาก
ชนิดา ดอกบัว
ทางด้าน“ชนิดา ดอกบัว” อายุ 42ปี เป็นชาวบ้านอีก1รายที่ได้รับสิทธิ์ “ห้องชุด” ได้บอกเล่าความรู้สึกที่ภาครัฐและเอสซีจีเข้ามาพัฒนาพื้นที่ในชุมชนว่า รู้สึกดีใจมากที่จะมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง และทางเอสซีจีได้เข้ามาพูดคุยและอธิบายถึงการพัฒนาพื้นที่ ส่วนตัวแล้วมองว่าดีมาก โดยการได้รับสิทธิ์ดังกล่าวจะต้องมีเงินออมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. ซึ่งคล้ายกับการผ่อนบ้าน กับธนาคาร เฉลี่ยคิดเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องผ่อนต่อเดือนรวมค่าน้ำค่าไฟแล้วอยู่ที่ราว 2,000บาท ต่อเดือน ระยะเวลาประมาณ 15ปีเท่านั้น นอกจากนั้นยังมีการรวมกลุ่มเพื่อฝึกอาชีพ ทั้งด้านการ ปลูกเห็ด ทำสบู่และแชมพู รวมไปถึงการต่อยอดหากมีโครงการสวนสาธารณะ ก็อาจจะรวมตัวกันรับจ้างนวดแผนไทย เพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเองอีกด้วย
จากการบูรณาการของทุกภาคส่วนที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการดังกล่าว ถือเป็นแนวทางการยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน ที่มีรูปแบบและกลไกของการพัฒนาที่สามารถดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบวิถีชีวิตที่จะเริ่มต้นใหม่ที่สามารถสร้างคุณค่า และพร้อมเป็นอีกหนึ่งชุมชนที่เข้มแข็งและมีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต
11 เมษายน 2561