พม. เผยผลโพลเกี่ยวกับกิจกรรมที่ประชาชนทำร่วมกับครอบครัวในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์
ในวันที่ 11 เมษายน 2561 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมชั้น 8 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เผยผลสำรวจที่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) พม. ได้ร่วมกับ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ทำการสำรวจพฤติกรรมและกิจกรรมที่ประชาชนมักทำร่วมกับครอบครัวในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ ประจำปี 2561 โดยทำการสำรวจประชาชนที่พักอาศัยในกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,055 คน แยกเป็นเพศหญิง จำนวน 613 คน เพศชาย จำนวน 425 คน และเพศทางเลือก จำนวน 17 คน พบว่า พบว่า ร้อยละ 43.7 มีแผนที่จะเดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัด โดยส่วนใหญ่จะเป็นพี่น้องพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) คือ จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดอุดรธานีมากที่สุด รองลงมาคือจังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดอุบลราชธานี ตามลำดับ และในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน ร้อยละ 43.13 ไม่ได้เดินทางไปต่างจังหวัด เนื่องจากเป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด, ต้องการพักผ่อนหรือท่องเที่ยวสงกรานต์ในกรุงเทพมหานคร, ต้องทำงาน ฯลฯ สำหรับอีกร้อยละ 13.18 ได้มีการวางแผนไปท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ โดยในประเทศประชาชนส่วนใหญ่นิยมไปจังหวัดระยองและเชียงใหม่เท่ากัน รองลงมา คือ ภูเก็ต ตามลำดับ ส่วนต่างประเทศ ส่วนใหญ่วางแผนที่จะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นมากที่สุด รองลงมาคือจีน และเกาหลีใต้ ตามลำดับ
นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว
นายเลิศปัญญา ได้กล่างถึงผลโพลกิจกรรมที่คนไทยจะทำร่วมกับครอบครัวในวันสงกรานต์ พบมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 14.6 คือ การเข้าวัดทำบุญตักบาตร รองลงมา ร้อยละ 13.96 คือ รดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่ และร้อยละ 13.21 คือ ทานข้าวพร้อมหน้าพร้อมตาทั้งครอบครัว และนอกจากนี้ก็จะมีกิจกรรม สรงน้ำพระ พักผ่อนอยู่บ้าน ไปเล่นสาดน้ำพร้อมกันทั้งครอบครัว ทำความสะอาดบ้าน ไปช้อปปิ้ง/ซื้อของการทำบุญอัฐิหรือบังสุกุล และอยู่พร้อมหน้ากันทำกิจกรรม (โดยไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์) เช่นร้องคาราโอเกะ เล่นเกมส์ ดูหนัง ตามลำดับ
นายเลิศปัญญา กล่าวต่ออีกว่า นอกจากผลโพลที่ทำร่วมกับสวนดุสิตแล้ว สค. ยังได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับกิจกรรมที่ไม่ควรทำในช่วงวันสงกรานต์ ผ่านทางเครือข่าย Social Media เช่น Line, Facebook กลุ่มเป้าหมายเครือข่ายทำงานด้านความรุนแรงในครอบครัวของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวที่ประสานงานผ่านทางเครือข่าย Social Media ของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว จำนวน 320 คน เป็นเพศหญิง จำนวน 225 คน เพศชาย จำนวน 93 คน และเพศทางเลือก จำนวน 2 คน พบว่า การดื่มสุราเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 32.50 รองลงมาคือการเมาแล้วขับ คิดเป็นร้อยละ 17.50 และการทะเลาะวิวาท คิดเป็น 3.13 ตามลำดับ
“การดื่มสุรา/เหล้า เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ เพราะการดื่มเหล้าเป็นจุดเริ่มที่จะทำให้ขาดสติ ขาดการควบคุม หรือยั้งคิด และก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาได้ ซึ่งปัญหาการล่วงละเมิดต่อผู้หญิง ก็เป็นปัญหาหนึ่งที่สำคัญ ที่มักเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ ทาง พม. จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน รณรงค์ “สงกรานต์ปลอดเหล้า ปลอดภัย ไม่ลวนลาม” โดยหวังว่าเมื่อผู้ใดเกิดปัญหาถูกลวนลาม ต้องลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตนเอง หากไม่รู้ว่าจะสามารถแจ้งขอความช่วยเหลือได้ที่ไหน ขอให้โทรมาที่สายด่วน 1300 ของ พม. ได้ตลอด 24 ชั่วโมง” นายเลิศปัญญา กล่าวในตอนท้าย
12 เมษายน 2561