โรงพยาบาลพระรามเก้า จับมือ 9 โรงพยาบาล ส่งต่อผู้ป่วยเปลี่ยนไต
โรงพยาบาลพระรามเก้า ร่วมกับ 9 โรงพยาบาลพันธมิตร จัดพิธีลงนามความร่วมมือ นำโดยโรงพยาบาลราษฎร์ยินดี (หาดใหญ่) เครือโรงพยาบาลราษฎร์ยินดี และเครือโรงพยาบาลปากน้ำโพ ในการส่งต่อผู้ป่วยโรคไตเพื่อขยายโอกาสในการรักษาโดยการเปลี่ยนไตให้เข้าถึงผู้ป่วยได้มากขึ้น โดยมุ่งหวังให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ เล็งเห็นถึงความสำคัญในการรักษาชีวิตผู้ป่วยโรคไต ด้วยความพร้อมทางการแพทย์ ทั้งทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เครื่องมือทางการแพทย์ ที่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยโรคไตให้กลับมาสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ
โดยการเปลี่ยนถ่ายไตที่ได้รับการบริจาคจากสภากาชาดไทยหรือใน 2 กรณี คือ กรณีที่ญาติพี่น้องบริจาคไตให้กับผู้ป่วย หรือจากผู้เสียชีวิตโดยภาวะสมองตาย โดยผู้ตายได้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะไว้ก่อนตาย หรือได้รับความยินยอมจากญาติทั้งนี้ไตที่ได้รับจะมาจากญาติร่วมสายเลือดกัน อาจเป็นพี่น้อง พ่อแม่ หรือลูกที่เต็มใจบริจาคไตข้างหนึ่งให้ผู้ป่วย หรือจากผู้เสียชีวิตโดยภาวะสมองตาย โดยผู้ตายได้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะไว้ก่อนตาย หรือได้รับความยินยอมจากญาติ โดยผู้ป่วยที่จะขอรับบริจาคไตจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของสภากาชาดไทย คือ 1.ต้องเป็นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย 2.ต้องไม่มีโรคที่รุนแรงที่เป็นอุปสรรคต่อการผ่าตัด 3.ต้องไม่เป็นมะเร็งที่ยังรักษาไม่หายขาด 4.ต้องไม่มีการติดเชื้อที่ยังรักษาไม่หายขาด (ยกเว้นโรคตับอักเสบบีและซี ที่แพทย์พิจารณาแล้วว่าการเปลี่ยนไตจะก่อให้เกิดประโยชน์มากกว่าโทษ) 5.ต้องไม่มีการติดเชื้อ HIV 6.ต้องไม่ป่วยทางจิต 7.ต้องไม่มีความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะที่แก้ไขไม่ได้
นายแพทย์เสถียร ภู่ประเสริฐ กรรมการผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระรามเก้า
นายแพทย์เสถียร ภู่ประเสริฐ กรรมการผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า โรงพยาบาลพระรามเก้าเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่มีสาขา มีพนักงานกว่า 1,200 คน และมีผู้ป่วยนอกมารับบริการมากกว่า 400,000 คนต่อปี ดังนั้นโรงพยาบาลจึงจำเป็นต้องขยายอาคารและปรับปรุงระบบเพื่อรองรับปริมาณผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น โดยจะสร้างตึกใหม่ที่จะรองรับทั้งผู้ป่วยในประเทศและต่างประเทศที่จะเข้ามารักษาอีกด้วย นอกจากนี้โรงพยาบาลพระรามเก้ายังเป็นโรงพยาบาลที่มีความพร้อมด้านการเปลี่ยนไตที่ได้รับมาตรฐานJCI และความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการเพิ่มโอกาสสำหรับผู้ป่วยโรคไต ที่อยู่ในส่วนที่ห่างไกลและยังไม่มีทีมแพทย์ที่สามารถทำการเปลี่ยนไตให้กับผู้ป่วยได้ สถานการณ์โรคไตในประเทศไทยโดยข้อมูลปี 2558 โดยกระทรวงสาธารณสุข พบว่ามีผู้ป่วยที่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่รอการผ่าตัดเปลี่ยนไตใหม่ประมาณ 40,000 ราย แต่มีผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตเพียงปีละ 400 รายเท่านั้น แน่นอนว่าการป้องกันไม่ให้เกิดโรคไตเป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างยิ่ง เริ่มต้นที่ตัวเองเอาใจใส่คนรอบข้าง เพราะสาเหตุส่วนใหญ่ที่ผู้ป่วยมารับการรักษาเกิดจากโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงยังเป็นสาเหตุหลัก แต่ก็มีผู้ป่วยที่อายุน้อยๆ ที่เข้ามารักษาด้วยอาการไตเสื่อมไปแล้วเพราะรู้ช้า ไม่ออกอาการ เนื่องจากโรคไตจะแสดงอาการก็ต่อเมื่อไตเสื่อมเกิน 90% ไปแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่เจออยู่บ่อยถือว่าเป็นสาเหตุที่น่าจะป้องกันได้คือเรื่องยา เพราะว่าบ้านเราหายาแก้อักเสบซื้อกินง่ายมากเกินไป ก็เลยทำให้ผู้ป่วยหลายคนไตเสื่อมเพราะยา นอกจากนี้ทางสถาบันโรคไตและเปลี่ยนไตโรงพยาบาลพระรามเก้ามีความพร้อมมีความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยโรคไต และผู้ป่วยที่มีความประสงค์จะเปลี่ยนไต ตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีทีมแพทย์ พยาบาล นักโภชนาการที่สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างใกล้ชิด ซึ่งผู้ป่วยมั่นใจได้ว่าการเปลี่ยนไตจะช่วยให้เหมือนได้ชีวิตใหม่กลับคืน
นพ.วิรุฬห์ มาวิจักขณ์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคไตและเปลี่ยนไต โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า ไตเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกายที่ทำหน้าที่ขับของเสียออกจากร่างกายทางปัสสาวะ ดูดซึมเกลือแร่ น้ำเข้าสู่ร่างกายและขับออกทางผิวหนัง แต่เมื่อไตเริ่มเสื่อมการขับของเสียออกจากร่างกายก็จะเริ่มด้อยลงไปจนกระทั่งมันไม่ทำงาน ทุกคนล้วนเข้าใจว่าการจะเป็นโรคไตได้นั้นเกิดจากการกินอาหารเค็มเพียงอย่างเดียว แต่หารู้ไม่ว่าภัยเงียบที่จะทำให้เกิดโรคไตเราแทบจะสังเกตอาการไม่ออกเลย จนกระทั่งไตเริ่มเสื่อมแล้ว จึงต้องทำการฟอกไต หรืออีกวิธีหนึ่งที่ทำให้หายขาดได้แน่นอนคือ การเปลี่ยนไตวิธีที่ใช้รักษาผู้ป่วยอยู่ในปัจจุบันในคือการฟอกเลือด ซึ่งทำให้ผู้ป่วยต้องเดินทางมาโรงพยาบาล 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์เพื่อทำการฟอกเลือด ทั้งนี้ผู้ป่วยจึงไม่สามารถเดินทางไปไหนไกลหลาย ๆ วันได้เลย และมีการจำกัดอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไต ร่างกายไม่แข็งแรงเพราะเลือดสะสมของเสียเอาไว้เนื่องจากไตไม่สามารถทำงานได้ แต่การเปลี่ยนไตเป็นวิธีการที่จะรักษาผู้ป่วยให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ เนื่องจากไตที่ได้รับการเปลี่ยนให้กับผู้ป่วยจะสามารถทำงานได้ใกล้เคียงกับไตปกติ ร่างกายของผู้ป่วยจะแข็งแรงขึ้นกว่าขณะฟอกเลือดและมีการจำกัดอาหารน้อยกว่า นอกจากนี้ยังสามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวกไม่ต้องพะวงว่าจะต้องไปฟอกเลือด
สุธน ศรียะพันธุ์ ประธานกรรมการโรงพยาบาลราษฎร์ยินดี กล่าวว่า รพ.ราษฎร์ยินดีเป็น รพ.เอกชนที่มุ่งหวังในการดูแลประชาชนที่อยู่ภาคใต้ของประเทศไทยและมีโรงพยาบาลพันธมิตรที่ร่วมโครงการลงนามส่งต่อผู้ป่วยที่เข้ารับการเลี่ยนไตกว่า 9 รพ.ชั้นนำได้แก่ รพ.ตรังรวมแพทย์, รพ.สิโรรส จ.ยะลา , รพ.สิโรรส จ.ปัตตานี , รพ.สิริเวช จ.จันทบุรี , รพ.อุบลรักษ์ ธนบุรี , รพ.ธนบุรี จ.ชุมพร , รพ.ปากน้ำโพ , รพ.ปากน้ำโพ 2 ด้วยความร่วมมือกับโรงพยาบาลพระรามเก้าที่มีทีมแพทย์และเครื่องมือที่มีความพร้อมหากต้องผ่าตัดเปลี่ยนไตให้กับผู้ป่วย รพ.ราษฎร์ยินดีและในเครือก็จะส่งต่อให้กับ รพ.พระรามเก้า เพื่อรับการเปลี่ยนไตและการรักษาที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว และมีมาตรฐานเดียวกัน รพ.ในเครือจึงจำเป็นต้องดูแลคนไข้ให้ดีที่สุด โดยเมื่อผู้ป่วยได้รับการเปลี่ยนไตแล้วผู้ป่วยสามารถเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อให้โรงพยาบาลในเครือดูแลได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องเดินทางมายังกรุงเทพมหานครอีก ด้วยความร่วมมือระหว่าง 9 รพ.เอกชนนับว่าเป็นการพัฒนา องค์กร และระบบการแพทย์ของประเทศไทยให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาและสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของประเทศไทย
3 พฤษภาคม 2561