ชีวิตติดร่างแห : ความจริงล่าสุดสถานการณ์ประมงไทย

ภาคีเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เผยความจริงสถานการณ์ประมงไทยยังพบปัญหา เครือข่ายประมงพื้นบ้านจับมือองค์การภาคประชาสังคมด้านแรงงาน ร่วมกันแถลงในนาม ภาคีเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืน (Civil Society’s Coalition for Ethical and Sustainable Seafood)

เปิดเผยผลวิจัย 2 ชุด พบแรงงานประมงในไทยยังต้องทำงานเกินชั่วโมงที่กฎหมายกำหนด เสี่ยงอันตราย และเข้าถึงข้อมูลด้านสิทธิน้อย ส่วนประมงแบบไม่ยั่งยืนทำเศรษฐกิจเสียหายไม่น้อยกว่า 145 ล้านบาทต่อปี เสนอปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมาย ระบบตรวจสอบ และการร้องเรียนในอุตสาหกรรมประมง ตลอดจนเร่งประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคมของการประมงไม่ยั่งยืนอย่างจริงจัง

นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย

แรงงานประมงในไทยทำงานเกินเวลา เสี่ยงอันตราย รู้สิทธิน้อย งานวิจัยชิ้นแรกคือ ชีวิตติดร่างแห: รายงานสิทธิแรงงานในอุตสาหกรรมประมงไทย ค้นพบว่าแรงงานที่ทำงานบนเรือประมงไทยถึง 1 ใน 5 ต้องทำงานเกิน 14 ชั่วโมงต่อวัน และมากกว่า 1 ใน 3 ไม่ได้นอนพักผ่อนเกิน 6 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งถือว่าผิดกฎหมายแรงงานที่กำหนดให้ทำงานไม่เกิน 14 ชั่วโมงต่อวัน และมีเวลาพักผ่อนอย่างน้อย 6 ชั่วโมงติดต่อกัน โดยแรงงาน 92% ที่ให้ข้อมูลเปิดเผยด้วยว่านอกจากการทำงานบนเรือประมงแล้ว พวกเขายังต้องทำงานเพิ่มเติมบนฝั่งอีกราว 5 ชั่วโมงในวันที่นำเรือเข้าฝั่งและออกจากฝั่งด้วย

นางสาวสุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) เปิดเผยว่า “งานบนเรือก็หนักอยู่แล้ว แรงงานประมงทั้งคนที่ต้องทำงานเกินเวลาตามกฎหมายและไม่เกิน เกือบทุกคนยังต้องทำงานบนฝั่งเพิ่มเติมอีก จะเห็นว่าพวกเขาต้องทำงานหนักมากๆ เพื่อแลกกับค่าจ้าง ซึ่งตรงนี้เรามองว่าเป็นช่องโหว่ที่ภาครัฐควรเข้ามาตรวจสอบและกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับชั่วโมงการทำงานให้ชัดเจนและครอบคลุมมากขึ้น”

ภาคีเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมฯ ระบุว่าความพยายามการปกป้องสิทธิแรงงานประมงในไทยมีความก้าวหน้าหลายประการในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีช่องโหว่ที่ต้องแก้ไขอีกมาก โดยงานวิจัยพบว่าสภาพการทำงานของแรงงานประมงยังน่าเป็นห่วง แม้ว่าแรงงานส่วนใหญ่จะได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับให้ใช้อุปกรณ์ความปลอดภัยอย่างเสื้อชูชีพ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่กำหนดให้เรือทุกลำต้องมีตามกฎกระทรวงที่บังคับใช้ตั้งแต่ปี 2559 แต่มีแรงงานเพียง 12% เท่านั้นที่ระบุว่าพวกเขาได้รับการฝึกอบรมการใช้เครื่องมือประมงอย่างปลอดภัย ขณะที่ 35% ระบุว่าบนเรือไม่มียาสามัญประจำบ้านและชุดปฐมพยาบาล 16% ระบุว่าไม่มีอาหารเพียงพอ และ 3% ไม่ได้รับอนุญาตให้พักผ่อนเมื่อล้มป่วย

งานวิจัยฉบับนี้ยังว่าพบแรงงานประมง 62% ระบุว่าพวกเขามีพาสปอร์ตหรือเอกสารสำคัญประจำตัว (Certificate of Identity) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเพียง 15% ในการสำรวจขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ก่อนหน้านี้ช่วงต้นปี 2560 อย่างไรก็ตาม เกือบ 2 ใน 3 ของแรงงานตอบว่าพวกเขาไม่ได้เก็บเอกสารไว้กับตัวเอง ส่วนใหญ่ถูกนายจ้าง คนเรืออาวุโส ฝ่ายบริหารจัดการของบริษัท หรือนายหน้าเก็บเอาไว้ ซึ่งผิดกฎกระทรวงที่ห้ามนายจ้างเก็บเอกสารสำคัญส่วนตัวของแรงงาน นอกจากนี้ แรงงาน 39% จำไม่ได้ว่าพวกเขาเคยเซ็นสัญญาทั้งงาน และ 95% ไม่ได้รับสำเนาสัญญาจ้างงานจากนายจ้าง ซึ่งผิดกฎหมายเช่นกัน

สำหรับประเด็นการรับรู้สิทธิแรงงาน งานวิจัยของภาคีเครือข่ายฯ ระบุว่า 70% ของแรงงานประมงรู้สึกว่าไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิทธิแรงงานอย่างเพียงพอ โดยกว่า 36% เข้าไม่ถึงข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิแรงงาน และแรงงานมากถึง 90% ไม่เคยยื่นเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิแรงงาน เนื่องจากไม่รู้ขอบเขตสิทธิของตนเอง

นายสมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) เปิดเผยว่า “แม้ที่ผ่านมาจะมีความพยายามจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งภาคประชาสังคมที่มีเป้าหมายร่วมในการแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมในภาคประมงของไทยอย่างเป็นระบบ และเราก็เห็นพัฒนาการในหลายๆ จุดตามที่ได้พูดถึงมาแล้ว แต่งานวิจัยก็สะท้อนให้เห็นว่าตัวนโยบายกับการนำไปปฏิบิติหรือบังคับใช้อาจจะยังไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างสมบูรณ์”

จากข้อค้นพบทั้งหมดในงานวิจัย ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมฯ ได้ประกาศข้อเสนอไปยังรัฐบาลไทยทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมเพื่อพัฒนาระบบการร้องเรียนจากแรงงานในอุตสาหกรรมประมง ออกกฎหมายห้ามบังคับเก็บค่านายหน้าจากแรงงาน ส่งเสริมการตรวจสอบหน่วยงานของรัฐ และให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาไอแอลโอฉบับที่ 87 ว่าด้วยว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง (ILO Convention 98/87) ที่กำหนดให้รับรองสิทธิการรวมตัวและการต่อรองของแรงงาน

นอกจากนี้ ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมฯ ยังเสนอไปยังภาคเอกชนในอุตสาหกรรมประมงไทยให้เข้ามามีบทบาทในการปกป้องสิทธิแรงงานมากขึ้น ส่งเสริมการจ้างงานอย่างเป็นธรรม จ่ายค่าจ้างอย่างเหมาะสม ยุติการเก็บค่านายหน้าจากแรงงาน เพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยบนเรือให้มีสูงขึ้น เปิดโอกาสให้แรงงานเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐาน ขณะที่ภาคเอกชนที่เป็นผู้ซื้ออาหารทะเลในต่างประเทศก็ควรสนับสนุนผู้ส่งออกที่ให้ความสำคัญกับอาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืนเช่นกัน ประมงไม่ยั่งยืนทำสูญเสียลูกปลาเศรษฐกิจ มากกว่า 74 ชนิด กระทบเศรษฐกิจ ไม่น้อยกว่า 145 ล้านบาทต่อปี

ภาคีเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมฯ ยังเปิดเผยข้อค้นพบเบื้องต้นในงานวิจัยอีกชิ้นซึ่งศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจของการทำประมงแบบไม่ยั่งยืน โดยพบว่าการทำประมงด้วยอวนลากและอวนล้อมปั่นไฟกลางคืนสร้างความเสียหายอย่างมากต่อทะเลไทย เพราะอวนทั้ง 2 ประเภทเป็นเครื่องมือหลักในการจับลูกปลาเศรษฐกิจไปเป็นส่วนประกอบในการผลิตอาหารสัตว์ แทนที่จะปล่อยให้โตเป็นปลาเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงกว่า 145 ล้านบาท

จากการคาดคะเนเบื้องต้นพบว่าการใช้อวนลากแผ่นตะเฆ่ทำให้สูญเสียลูกปลาเศรษฐกิจมากกว่า 74 ชนิด เช่น ปลาทู ปลากระพง ปลาอินทรี ปลาจะละเม็ด ปลาเก๋า เป็นต้น “มีความจำเป็นเร่งด่วนที่รัฐบาลไทยจะต้องทำ EHIA เพื่อประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงด้านเศรษฐกิจและสังคมจากการทำประมงโดยจับลูกปลาวัยอ่อน ถ้ายังไม่เร่งแก้ปัญหา เราเป็นห่วงว่าทรัพยากรทางทะเลไปจนถึงเศรษฐกิจของประเทศจะยิ่งได้รับความเสียหายมากขึ้นเรื่อยๆ” นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี ผู้จัดการสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย

รายงานฉบับสมบูรณ์จะเสร็จสิ้นและมีการเผยแพร่ให้สื่อมวลชนและประชาชนที่สนใจต่อไป

เปิดตัวภาคีเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมฯ การแถลงข่าวครั้งนี้ยังถือเป็นการเปิดตัวต่อสาธารณะอย่างเป็นทางการของภาคีเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืน (CSO Coalition for Ethical and Sustainable Seafood) ซึ่งเป็นการรวมตัวของภาคประชาสังคมทั้งในไทยและต่างประเทศเพื่อร่วมทำงานแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมประมงไทย

 “การทำงานของภาคีเครือข่ายฯ เราจะเน้นไปที่การใช้ข้อมูล งานวิจัย และหลักฐานที่เชื่อถือได้ต่างๆ เพื่อผลักดันให้ภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศสานต่อการแก้ปัญหาทางสิ่งแวดล้อมและทางสังคมในอุตสาหกรรมประมงไทยอย่างจริงจังมากขึ้น เราอยากให้คนไทยทุกคนกล้าพูดได้เต็มปากว่าอาหารทะเลไทยเป็นอาหารทะเลที่ยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปลอดภัย และไม่ได้ถูกผลิตจากน้ำพักน้ำแรงของแรงงานที่ถูกกดขี่” นายบรรจง นะแส นายกสมาคมสรักษ์ทะเลไทย กล่าวปิดท้าย

17 พฤษภาคม 2561


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai