โครงการนำร่อง Gastronomy Tourism เส้นทางสายกิน อาหารถิ่นในตำนาน เมืองตราด
นายคมกริช ด้วงเงิน ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการบริการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นำคณะสื่อมวลชนร่วมสำรวจ เส้นทางสายกิน อาหารถิ่นในตำนาน (Gastronomy Tourism) ณ จังหวัดตราด เมื่อวันที่ 13-15 พค. ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็น 1 ใน 5 จังหวัดที่จะถูกขับเคลื่อนการท่องเที่ยวด้วยประสบการณ์ใหม่ๆ จากเรื่องราวของ “การกิน” หนึ่งในซิกเนเจอร์ของเมืองไทย เพื่อให้ได้สัมผัสกับวิถีชุมชน ชีวิตและเรื่องราวที่น่าสนใจที่ผูกร้อยเรื่องราวกับพื้นถิ่น พร้อมกับความโดดเด่นของจังหวัดตราดกับศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวที่หลากหลาย Food Tourism
นายคมกริช ด้วงเงิน ผอ. เล่าให้ฟังว่า ผมอยู่ฝ่ายสินค้าหรือโพรดักส์ ซึ่งก็จะมีอีกหลายๆ ฝ่ายที่ประสานกัน ทั้งฝ่ายการตลาด ฝ่ายแผนและฝ่ายประชาสัมพันธ์ ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการซึ่งตอบโจทย์ของรัฐบาลเรื่องของการท่องเที่ยวเมืองรอง เพราะการท่องเที่ยวปีที่ผ่านมาทำรายได้ 2 ล้านล้านบาท แต่กระจุกตัวอยู่ในเมืองหลัก หรือ อยู่ในทางภาคธุรกิจหรือที่เขาประกอบการ หลักๆ ไม่ได้กระจายสู่ชุมชนหรือภาคการเกษตร รัฐจึงคิดเรื่องเมืองรอง
กำหนดเมืองรองคือจำนวนนักท่องเที่ยวหรือผู้มาเยี่ยมเยียน รวมกันแล้วถ้าไม่ถึง 4 ล้านคนถือว่าเป็นเมืองรอง ที่ไม่ถึงมี 55 จังหวัด ตราดคือ 1 ใน 55 จังหวัดนั้น ประกอบกับปัจจุบัน การท่องเที่ยวเชิงอาหารหรือ Food Tourism หรือเที่ยวเพื่อกินเป็นกระแสหลัก เพราะว่าเรามีการศึกษาวิจัยพบว่า ค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่ใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มมีสูง และแนวโน้มสูงขึ้น คิดเป็นมูลค่า 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวโดยรวมทั้งนี้เรื่องของอาหาร ก็ยังเชื่อมโยงเกี่ยวกับวิถีชุมชน วิถีชีวิตของชาวบ้าน ภาคเกษตร ซึ่งจะมาโยงกับนโยบายของรัฐบาลที่จะกระจายมายังพื้นที่ชุมชนหรือเมืองรอง เพราะปัจจุบันกระแสการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวมักเสาะหาอาหารท้องถิ่นที่มีความแปลกใหม่ในแต่ละที่ ที่เดินทางไปโดยถือว่าอาหารถือเป็นประสบการณ์หนึ่งในการเดินทาง
นอกจากนี้เรื่องของอาหารยังผูกพันกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ระบบนิเวศน์ในพื้นที่ จากแนวโน้มดังกล่าว ทางฝ่ายสินค้าจึงให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์เส้นทางสินค้าอาหารเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งโครงการของเราที่มาในวันนี้ ชื่อโครงการว่า เส้นทางสายกิน อาหารถิ่นในตำนาน
นายคมกริช เล่าถึง Gastronomy Tourism ว่า “ Gastronomy ความหมายคือศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องการกิน ศิลปะในการกินอาหาร ตั้งแต่กระบวนการที่เกิดขึ้นมาวัตถุดิบนำมาปรุงอยู่ในพื้นถิ่น เช่นหอยพอกชุมชนก็นำมาทำอาหารเมนูแกงหอยพอกใบชะพลู ใบโกงกางก็นำมาชุบแป้งทอด ซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้จากพื้นถิ่น จะต่างจาก Food Tourism ที่เป็นอาหารทั่วไป ที่ไม่ได้สนใจว่าจะมาจากพื้นถิ่นหรือไม่ จะนำเข้าหรือมาจากไหน
ที่นำเสนอในครั้งนี้มีหลากหลาย เช่น ก๋วยเตี๋ยวอ่อนน้ำพริก ขนมจ้างโบราณ ขนมบันดุ๊ก แกงไก่ใส่กล้วยพระ วุ้นหมาน้อยในน้ำเชื่อม เป็นต้น
เราจะใช้ตัวของอาหารไทย อาหารถิ่นเป็นจุดขายดึงดูดนักท่องเที่ยวซึ่งมีแนวโน้มที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการจับจ่ายใช้สอยเรื่องของอาหารและเครื่องดื่ม เราทำโครงการนี้ทั่วประเทศ แต่ระยะเวลาและงบประมาณที่จำกัด จึงทำได้เส้นทางนำร่อง ภาคละ 1 พื้นที่ แต่ในข้อมูลจะมีภาคละ 2 พื้นที่ ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ครั้งแรกเราไปลพบุรี เป็นตัวแทนภาคกลาง ตราดเป็นตัวแทนของภาคตะวันออก ทริปต่อไปเป็นตาก ตัวแทนภาคเหนือและถัดไปสุรินทร์ ตัวแทนภาคอีสานและสุดท้ายสตูลตัวแทนภาคใต้ ซึ่งทุกจังหวัดจะเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวไม่ถึงสี่ล้าน
ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการบริการท่องเที่ยว เล่าต่อว่า ....เราพยายามทำเส้นทางให้เชื่อมโยงไปกับแหล่งท่องเที่ยว ไม่ใช่เรื่องกินอย่างเดียว พยายามไปในชุมชน จังหวัดตราดทราบกันดีอยู่แล้วว่า เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล ใครมาก็จะไปเกาะช้าง เกาะหมาก เกาะกูด
แต่ขณะที่ของดีอยู่ในเมืองในพื้นดิน ชายฝั่ง ยังมีอีกมาก เช่น หาดทรายดำ เป็นพื้นที่ป่าโกงกางผืนใหญ่ของจังหวัด พิพิธภัณฑ์เมืองตราด ถ้านักท่องเที่ยวที่มาตราดก่อนไปเกาะต่าง ๆ ถ้าแวะแห่งแรกที่พิพิธภัณฑ์ก็จะได้ข้อมูลประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและธรรมชาติได้ครบถ้วน
ขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวที่มาแล้วก็อยากให้ไปที่พิพิธภัณฑ์เมืองตราดเป็นจุดเริ่มต้น ไหว้สมเด็จพระเจ้าตากสิน ศาลเจ้าพ่อ วัดโยธานิมิตหรือวัดโบสถ์ ชมประภาคารที่แหลมงอบ โดยเฉพาะช่วงเวลาเย็นชมพระอาทิตย์ตกดิน จะได้อรรถรสไปอีกแบบหนึ่ง
โครงการนี้เป็นครั้งแรกสำหรับฝ่ายสินค้า วางกลุ่มเป้าหมายไว้ที่นักท่องเที่ยวในประเทศเน้นชุมชน ส่วนนักท่องเที่ยวต่างประเทศก็ต้องเป็นชุมชนที่คัดจาก 55 จังหวัด ซึ่งเป็นอีกฝ่ายหนึ่งที่จะคัดขึ้นมาสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งมีอยู่ 33 ชุมชนที่เหมาะกับการขายต่างประเทศได้
อีกเรื่องคือ ตราดมีชุมชนซึ่งได้รางวัลอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหรือ Tourism Award ของททท. สองชุมชนคือ ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว และชุมชนรักษ์คลองบางพระ เราพยายามผลักดันให้ทางจังหวัดส่งชุมชนเข้ามา เหมือนท่าระแนะที่เราก็เข้าไปแนะนำ และเพิ่งได้งบกลางก็จะจัดโครงการเจ้าบ้านที่ดี
โครงการเจ้าบ้านที่ดีปีที่แล้วจัดที่กรุงเทพฯ ระดมคนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวในชุมชนทั่วประเทศไปอบรม ปีนี้เป็นรุ่นที่ 2 พยายามให้ชุมชนโดยเฉพาะคนในพื้นที่ภาคการเกษตร มัคคุเทศก์น้อยทั้งหลาย ได้ไปศึกษาหาความรู้ในการที่จะเป็นมัคคุเทศก์ที่ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่ถูกต้อง ตามหลักของการเป็นมัคคุเทศก์ที่ดี เราก็เป็นเหมือนเจ้าของบ้าน แขกที่มาเยี่ยมเยียนเราก็จะได้ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวได้ประทับใจตามแบบฉบับของประเทศไทย ซึ่งเราได้ชื่อว่า อุตสาหกรรมการให้บริการท่องเที่ยวของไทยอยู่ในอันดับแรกๆ ของโลก ยอดผู้เยี่ยมเยือนเมืองตราด
ผอ.กล่าวต่อว่า “....ผลจากมาโครงการนำร่องในวันนี้ก็จะไปประชุมรวบรวมว่า ที่มานี้เราได้เห็นของดีๆ อะไรบ้าง ไปถ่ายรูป ไปเที่ยวชมมา ตรงนี้คือเป็นโครงการนำร่องเพื่อไปบอกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปขาย เพื่อให้เอเย่นต์ที่ประกอบการท่องเที่ยวได้รู้สำหรับการทำโปรแกรม
ทางผู้ประกอบการอาจมาดูโครงการเป็นต้นแบบแต่ก็สามารถไปปรับเพื่อให้เข้ากับโปรแกรมของตัวเองได้ ซึ่งมีเรื่องการเดินทาง ที่พักและหลายๆ ที่ทำเต็มรูปแบบ
ผอ. กล่าวถึงสถิตินักท่องเที่ยวที่เข้ามายังเมืองตราดเมื่อปี 2560 ว่า “ปีที่แล้ว ผู้เยี่ยมเยือนปี 60 มีจำนวน 2,756,421 คน/ครั้ง ผู้เยี่ยมเยือนหมายถึงนักทัศนาจรและค้างคืนคน/ครั้ง หมายความว่าคนหนึ่งอาจจะมาหลายครั้ง เพิ่มขึ้นจากปี 59 จำนวน 16.3 % มีรายได้หมุนเวียน 24,384 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 20.4% โดยส่วนใหญ่เป็นชาวไทย 1.7 ล้านคน และชาวต่างประเทศ 1.03 ล้านคน
แต่การที่มานำร่องท่องเที่ยวตามท้องถิ่น เพราะทางเกาะนั้นมีชื่อเสียงอยู่แล้ว ตรงนี้ก็เพื่อกระจายให้กับคนบนฝั่ง อีกอย่างคือ การเที่ยวทะเลตามเกาะจะเป็นตามฤดูกาลแต่ในเมืองจะมาได้ทั้งปี ถ้าใส่คำว่า ท่าระแนะ ป่าตะบูนสองร้อยปี นอกจากอันซีนแล้ว ยังอันโทล คือไม่มีใครเล่า หรือแม้แต่เรื่องราวที่ในพิพิธภัณฑ์บางคนเห็นแต่ไม่มีใครมาเล่าเรื่องราวข้อมูลตำนานหรือประวัติศาสตร์ทำให้ขาดความน่าสนใจ จากที่ได้ลงพื้นที่มีเรื่องการบริหารจัดการในพื้นที่บางชุมชนยังต้องปรับ แต่ชุมชนมีความตั้งใจ ซึ่งก็เตรียมออกแบบแล้วเรื่องบอร์ดวอล์ค
“รบกวนคนในพื้นที่ช่วยผลักดันว่า การก่อสร้างอะไรก็แล้วแต่ ให้กลมกลืนกับธรรมชาติให้ยั่งยืน ไม่ใช่เอางบมาลงแล้วนำปูนมาใส่ซึ่งขัดกัน ควรนำคนที่มีความรู้เรื่องการออกแบบที่มีความรู้เรื่องระบบนิเวศน์ เรื่องธรรมชาติเข้ามา
ผมจะใช้คำพูดว่า ระบบอำนวยความสะดวกและระบบสื่อความหมายธรรมชาติ ได้แก่ป้าย สัญลักษณ์ สื่อใช้คน ใช้ไกด์ นักเรียนที่มีความรู้ ครูบาอาจารย์ ความสำคัญของระบบนิเวศน์หรือไม่ใช้คน ก็มีป้าย ใช้คนทั้งที่อยู่อาคาร หรือในห้องประชุมหรือใช้หูฟัง หรือหนังสือมีหมายเลขก็เปิดดู
สรุปคือ ตราด มีความพร้อมระดับหนึ่ง อย่างท่าระแนะมีความพร้อมแล้ว แต่ต้องปรับปรุงเรื่องของสิ่งอำนวยความสะดวก ระบบการให้ความรู้ หรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับคนมาเที่ยวชมในพื้นที่ให้เห็นถึงความสำคัญของสิ่งที่เห็น หรือมีประโยชน์อย่างไร หาดทรายดำเองก็ต้องเพิ่มระบบสื่อความหมาย
โครงการนี้เรามาเพื่อนำร่องเป็นตัวอย่างเพื่อให้เอเย่นต์ ถ้าเขาสนใจก็นำไปใช้ได้เลยหรือนำไปปรับใช้ได้ตามลักษณะของผู้ประกอบการ ซึ่งโครงการนี้จะเสร็จสิ้นภายในปีงบประมาณนี้” นายคมกริช กล่าวท้ายสุด
ขอขอบคุณ
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
สัมภาษณ์พิเศษ : นาริฐา จ้อยเอม
18 พฤษภาคม 2561