ส.ป.ก. เดินหน้าพัฒนาพื้นที่ คทช. บ่อทอง จ.ชลบุรี
ส.ป.ก. เดินหน้าพัฒนาพื้นที่ คทช. บ่อทอง จ.ชลบุรี ใช้ปาล์มน้ำมันสร้างรายได้ให้เกษตรกรเกือบ 7,000 บาทต่อเดือน
เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2561 สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร โดยมี นายสุรจิตต์ อินทรชิต เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เป็นประธาน นายปราโมทย์ ยอดแก้ว ผู้อำนวยการสำนักจัดการปฏิรูปที่ดิน เป็นผู้กล่าวรายงาน นายอัครเดช เรียนหิน ปฏิรูปที่ดินจังหวัดชลบุรี ให้การต้อนรับและนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ศึกษาดูงานติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการจัดที่ดินตามโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายของรัฐบาลในเขตปฏิรูปที่ดิน ณ พื้นที่แปลงหมายเลข ๔๖๘ ตำบล บ่อทอง อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี
นายสุรจิตต์ อินทรชิต เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
นายสุรจิตต์ อินทรชิต เลขาธิการ ส.ป.ก. เปิดเผยว่า การดำเนินการจัดที่ดินตามโครงการจัดที่ดิน ทำกินให้ชุมชนตามนโยบายของรัฐบาลในเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดชลบุรี อยู่ในกรณีที่ 1 คือ ที่ดินที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่มีเนื้อที่ตั้งแต่ 500 ไร่ขึ้นไป โดยผลการดำเนินการตรวจสอบพื้นที่เป้าหมาย สามารถยึดคืนพื้นที่มาดำเนินการจัดที่ดินตามโครงการจัดที่ดินทำกินฯ จำนวน 2 แปลง ได้แก่
1. แปลงหมายเลข 378 ตำบลเขาซก อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ 569.75 ไร่
2. แปลงหมายเลข 468 ตำบลบ่อทอง อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ 535.27 ไร่
โดยพื้นที่ที่มาศึกษาดูงานในวันนี้ คือ แปลงหมายเลข 468 ตำบลบ่อทอง อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี จัดสรรให้เกษตรกร จำนวน 42 ราย ๆ ละ 5+1 ไร่ (แบ่งเป็นแปลงเกษตรกรรม 5 ไร่ และแปลงที่อยู่อาศัย 1 ไร่) พื้นที่แปลงรวม 47 ไร่ 38 ตารางวา พื้นที่ส่วนกลาง 74 ไร่ 1 งาน 09 ตารางวา พื้นที่แหล่งน้ำ 125 ไร่ 76 ตารางวาและจัดตั้ง “สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินอำเภอบ่อทอง (คทช.) จำกัด” ส.ป.ก.ชลบุรี ได้ดำเนินการจัดที่ดินแล้ว ในรูปแบบกลุ่มหรือสถาบันเกษตรกร มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคด้านต่าง ๆ มีความคืบหน้า ไปแล้วประมาณร้อยละ 67.6 โดยบูรณาการร่วมหน่วยงานในสังกัดภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานราชการอื่น ๆ อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น มีการปรับพื้นที่ ปูผังแบ่งแปลง ก่อสร้างถนนสายหลัก สายซอย การจัดหาแหล่งน้ำ การขุดบ่อน้ำบาดาลและการวางระบบท่อส่งน้ำเข้าไปยังพื้นที่ส่วนต่าง ๆ การขุดบ่อน้ำชั่วคราว ทั้งนี้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ได้สร้างบ้านให้แก่เกษตรกรที่ได้รับการจัดที่ดินเสร็จแล้ว 15 หลัง คาดว่าการดำเนินงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในไม่เกินสิ้นปีนี้ สำหรับการคัดเลือกเกษตรกรเข้าทำกินตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้วทั้ง 42 ราย เกษตรกรได้รวมตัวกันจัดตั้งสหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินอำเภอบ่อทอง (คทช.) จำกัด เพื่อขอเช่าที่ดินจาก ส.ป.ก. ขณะนี้เกษตรกรบางส่วนได้เข้ามาอยู่อาศัย และเริ่มทำการเพาะปลูกบ้างแล้ว
เนื่องจากพื้นที่แปลงหมายเลข 468 สภาพดั้งเดิมก่อนที่ ส.ป.ก. จะยึดคืนมา เป็นแปลงปลูกปาล์มน้ำมันทั้งหมด ปาล์มบางส่วนโตเต็มที่เก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว ส.ป.ก. จึงได้โค่นต้นปาล์ม ปรับพื้นที่เฉพาะในส่วนที่เป็นบ้านพักอาศัยและพื้นที่สำหรับจัดสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ส่วนที่เป็นแปลงรวมและแปลงเกษตรกรรมที่จัดให้เกษตรกรทำกินรายละ 5 ไร่ ยังคงเป็นสวนปาล์ม อีกทั้ง เมื่อใช้ระบบแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก หรือ Agri-Map มาพิจารณา ปรากฏว่าพื้นมีความเหมาะสมในการปลูกปาล์มน้ำมัน คณะอนุกรรมการพัฒนาชีพ จึงเห็นสมควรว่าให้คงปาล์มน้ำมันไว้เพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ในส่วนเกษตรกรที่ได้รับการจัดที่ดินก็เห็นด้วยกับแนวคิดนี้เพราะในระหว่างการพัฒนาสาธารณูปโภค เกษตรกรยังไม่สามารถทำการเพาะปลูก ไม่มีรายได้ การตัดปาล์มน้ำมันขาย จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรประมาณ 4,000 – 7,000 บาทต่อเดือนต่อราย รวมทั้งเกษตรกรที่ได้เข้ามาอยู่อาศัยบางส่วนได้ทำการเพาะปลูก มีรายได้จากการขายพืชผักอีกประมาณวันละ 100-200 บาท ดังนั้น แนวทางการพัฒนาอาชีพในระยะแรก เกษตรกรจะมีรายได้หลักจากการขายปาล์มน้ำมัน รายได้อีกส่วนหนึ่งก็จะมาจากการทำเกษตรผสมผสานตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงในแปลง ที่อยู่อาศัย 1 ไร่ และในระยะต่อไป ส.ป.ก. จะพยายามผลักดันให้เกษตรกรในพื้นที่มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน ไม่ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน
เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวต่อไปว่า จุดเด่นของเกษตรกรในพื้นที่นี้คือ มีการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง ร่วมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เกษตรกรบางส่วนเข้ามาอยู่ในพื้นที่ตั้งแต่ยังไม่มีบ้านโดยสร้างเป็นเพิงชั่วคราว และมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่มาตลอด และมีแนวทางร่วมกันในการพัฒนาชุมชนอย่างชัดเจน แม้แหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคยังสร้างไม่เสร็จ แต่เกษตรกรบางส่วนก็ได้ลงแรงขุดบ่อน้ำตื้นในพื้นที่ของตัวเอง จนสามารถทำการเพาะปลูก และมีรายได้จากการขายพืชผัก ส่วนราชการต่าง ๆ ก็ร่วมกันทำงานอย่างแข็งขัน การพัฒนาจึงเป็นไปอย่างรวดเร็ว คาดว่าภายในปี 2561 การพัฒนาทุกด้านจะเสร็จเรียบร้อย
นางสาวศรัญญา วงศ์สุนทร เหรัญญิกสหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินอำเภอบ่อทอง (คทช.) จำกัด เปิดเผยว่า ในส่วนของเกษตรกรที่ได้รับการจัดที่ดินมีการพูดคุยและปรับแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่ร่วมกันมาโดยตลอด หลังจากรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นสหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินอำเภอบ่อทอง (คทช.) จำกัด เมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 สมาชิกจึงได้ตกลงร่วมกันว่าจะเก็บปาล์มน้ำมันในแปลงรวมและแปลงเกษตรกรรมไว้ เพราะในระหว่างที่เกษตรกรยังไม่สามารถทำการเกษตรได้ ก็จะยังมีรายได้จากการขายปาล์มน้ำมัน โดยใช้วิธีบริหารแบบแปลงรวม รวบรวมผลผลิต และขายผ่านสหกรณ์ แล้วนำรายได้มาแบ่งเท่า ๆ กัน เพื่อให้เกษตรกรทุกคนสามารถอยู่ได้และร่วมใจกันพัฒนาพื้นที่ ในหนึ่งเดือนตัดปาล์มได้สองครั้ง ขายได้เป็นเงินประมาณ 200,000-300,000 บาท หักค่าจ้างในการตัดปาล์มตันละ 850 บาท หรือประมาณ 20,000-40,000 บาทต่อเดือน เหลือเป็นรายได้ 180,000-260,000 บาทต่อเดือน หลังจากหักค่าดำเนินงานของสหกรณ์แล้วจึงนำรายได้ทั้งหมดมาแบ่งเท่า ๆ กัน ในแต่ละเดือนเกษตรกรมีรายได้ จากการขายปาล์มน้ำมันประมาณ 4,000-7,000 บาท สำหรับแนวทางการพัฒนาในอนาคตกลุ่มมีความเห็นร่วมกันว่าจะยังคงพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันไว้จนกว่าจะหมดอายุแล้วจึงค่อยพิจารณาว่าจะเพาะปลูกอะไรต่อไป ส่วนในแปลงที่อยู่อาศัยและพื้นที่ส่วนกลางจะทำเกษตรผสมผสาน โดยเน้นการทำพืชผักอินทรีย์ และในพื้นที่แต่ละแปลงจะพยายามตกแต่งให้สวยงามเพื่อผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรต่อไป
4 มิถุนายน 2561