พม. รณรงค์ชาวเชียงใหม่ ร่วมตระหนัก “สังคมไทย ห่วงใยคนไร้ที่พึ่งและคนขอทาน” มุ่งให้ทานอย่างถูกวิธี
พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.)
วันนี้ (28 มิ.ย. 61) เวลา 18.00 น. ที่ลานเอนกประสงค์ (ข่วงประตูท่าแพ) จังหวัดเชียงใหม่ พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการรณรงค์“สังคมไทย ห่วงใยคนไร้ที่พึ่งและคนขอทาน”เพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับประชาชนในการ สร้างการมีส่วนร่วมสำหรับการเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง อีกทั้งเพื่อให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายให้ได้รับการคุ้มครอง ตลอดจนสร้างความเป็นระเบียบ และภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดย กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ได้ตระหนักถึงคุณค่าของกลุ่มคนไร้ที่พึ่งและคนขอทานที่ควรได้รับการดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างเหมาะสม จึงขับเคลื่อนการดำเนินงานคุ้มครองสวัสดิภาพและช่วยเหลืออย่างครบวงจร ภายใต้มาตรการ 3 ด้าน ดังนี้ 1) มาตรการป้องกัน โดยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือและการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งและผู้ทำการขอทาน 2) มาตรการคุ้มครอง โดยให้บริการสวัสดิการสังคม ด้วยการใช้กระบวนการทางสังคมสงเคราะห์ในการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิต ก่อนคืนสู่ครอบครัวและชุมชน ผ่านการดำเนินงานของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งและสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง และ 3) มาตรการส่งเสริมการมีส่วนร่วม โดยบูรณาการความร่วมมือกับองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ในการเสริมสร้างศักยภาพให้ คนไร้ที่พึ่ง และคนขอทาน ได้ตระหนักในคุณค่าของตนเอง ด้วยความภาคภูมิใจในศักยภาพของตนเอง รวมถึงกระตุ้นให้สังคมตระหนัก ยอมรับ และสร้างการมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือแบ่งปัน ให้กำลังใจ และคำแนะนำ จนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคมอย่างปกติสุข
นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (ด้านขวา)
กระทรวง พม. โดย พส. ได้ดำเนินงานตามพระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ.2557 และพระราชบัญญัติควบคุม การขอทาน พ.ศ. 2559 ซึ่งอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ร่วมแก้ไขปัญหา ซึ่งทุกฝ่ายได้ตระหนักร่วมกันว่า “การขอทานเชื่อมโยงไปสู่ขบวนการค้ามนุษย์” ดังนั้น จึงกำหนดจัดโครงการรณรงค์ “สังคมไทยห่วงใยคนไร้ที่พึ่งและคนขอทาน” ภายใต้นโยบาย DSDW CANNON 2018 ขึ้น ต่อจากงานครั้งแรกที่จังหวัดภูเก็ต ต่อมาได้มีการขยายผลไปยังจังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดเชียงใหม่ ตามลำดับ เนื่องจากเล็งเห็นว่าจังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองใหญ่ของประเทศที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรม เนื่องจากเป็นเมืองท่องเที่ยวนานาชาติของประเทศไทย ที่มีทั้งสถานกงสุลใหญ่ต่างประเทศและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่งดงาม อาทิ พระธาตุดอยสุเทพ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ – ปุย ดอยอ่างข่าง เทศกาลสงกรานต์เชียงใหม่ตามวิถีวัฒนธรรมล้านนา เป็นต้น ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจำนวนมากตลอดทั้งปี ก่อให้เกิดการสร้างรายได้จำนวนมหาศาล
สำหรับการจัดโครงการรณรงค์ครั้งนี้ ได้กำหนดกิจกรรมสำคัญ คือ การประกาศเจตนารมณ์ “สังคมไทยห่วงใย คนไร้ที่พึ่งและคนขอทาน” ด้วยการเดินรณรงค์เพื่อให้ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ โดยการปรับเปลี่ยนทัศนคติจากการให้เงินมาเป็นการให้โอกาส การให้งานทำแก่กลุ่มเป้าหมาย นอกจากนี้ ยังมีการแสดงซอพื้นเมืองโดยกลุ่มศิลปินพื้นบ้าน การฟ้อนดาบรำดาบ ของกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็น การแสดงถึงอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของชาวล้านนา การแสดง ที่ผสมผสานหลากหลายวัฒนธรรม อาทิ Banjo-Musical JUNGLE DANCED เป็นต้นทั้งนี้ หากพบเห็นผู้ทำการขอทานหรือผู้ประสบปัญหาทางสังคมสามารถแจ้ง ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง
29 มิถุนายน 2561