จุฬาฯ -GC หนุนใช้พลาสติกชีวภาพ BioPBS สูตรสำเร็จจัดการขยะพลาสติกแบบยั่งยืน
ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมลงนามความร่วมมือกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ในการใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม BioPBSTM และความร่วมมือส่งเสริมการคัดแยกบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพื่อสร้างจิตสำนึกตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน ผ่านโครงการ Chula Zero Waste ซึ่งได้ดำเนินการเป็นปีที่ 2 เพื่อดำเนินการลดปริมาณการเกิดขยะ การคัดแยกขยะ และการสร้างจิตสำนึกและวินัยให้กับนิสิตและบุคลากร โดยจะเป็นโครงการต้นแบบของสถาบันการศึกษาแห่งแรกของไทย ในการบริหารจัดขยะแบบครบวงจร สอดคล้องกับนโยบายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย
ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการนำพลาสติกชีวภาพนวัตกรรมใหม่ หรือที่เรียกว่า BioPBSTM มาเป็นวัตถุดิบในการเคลือบแก้วกระดาษ Zero-Waste Cup ที่สามารถย่อยสลายได้ 100 % โดยเป้าหมายปี 2561 จะเริ่มใช้ในโรงอาหารทั้งหมด 17 แห่ง ทำให้สามารถลดการใช้แก้วพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งได้กว่า 170,000 ชิ้นต่อเดือน หรือ 2 ล้านใบต่อปี ซึ่งเป็นระบบการจัดการแก้ว Zero-Waste Cup อย่างครบวงจร ด้วยการคัดแยกแก้ว Zero-Waste Cup ที่ใช้งานแล้ว ไปฝังกลบ ในบ่อปุ๋ยหมัก เพื่อให้เกิดการย่อยสลาย ซึ่งคุณสมบัติของแก้วดังกล่าว สามารถนำไปเป็นสารปรับปรุงดินที่ใช้ดูแลต้นไม้ในมหาวิทยาลัยได้เป็นอย่างดี
“ในความร่วมมือกับ GC ในฐานะผู้ผลิตเคมีภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมรายใหญ่ของไทย ทำให้โครงการนี้สำเร็จได้ตามเป้าหมาย เชื่อมั่นว่าการดำเนินการครั้งนี้ จะเป็นส่วนสำคัญต่อการขยายเครือข่ายความร่วมมือไปยังหน่วยงานอื่นๆ ได้อีกเพื่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมในระยะยาวมากว่า ซึ่งจุฬาฯ พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆในการนำแนวทางของ Chula Zero Waste ไปประยุกต์ใช้ภายในหน่วยงาน หรือสถาบันอื่นๆ ต่อไป”
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ในฐานะผู้นำนวัตกรรมเคมีภัณฑ์เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตที่ดีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ความร่วมมือกับจุฬาฯ ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการลดปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทย และเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่บริษัทฯให้ความสำคัญและตระหนักในการดำเนินธุรกิจ โดยยึดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด จากการพัฒนานวัตกรรมพลาสติกชีวภาพ โดยนำพืช เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด มาเป็นวัตถุดิบในการผลิต BioPBSTM ใช้ทดแทนพลาสติกทั่วไปในบรรจุภัณฑ์ชนิดต่างๆที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ
การใช้ BioPBSTM มาเคลือบกระดาษและผลิตเป็นแก้ว จะทำให้แก้วกระดาษทั้งใบสามารถย่อยสลายได้ทุกส่วน และยังคงคุณสมบัติการใช้งานกับเครื่องดื่ม ร้อนหรือเย็นได้ตามปกติ และมีแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นๆได้อีก ไม่ว่าจะเป็นถุงพลาสติกหูหิ้ว ฝาแก้ว เป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ทำให้เกิดปัญหาปริมาณขยะในปัจจุบัน และมีผลต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นทาง GC พร้อมที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ เพื่อการใช้งานของผู้บริโภคได้อย่างมีคุณค่าและเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี
“ หลักการของการทำ Circular Economy เป็นแนวทางของการใช้พลาสติกให้เกิดประโยชน์สูงสุด และอยากเห็นไทยเป็นผู้นำในหลักการนี้ เพราะทุกวันนี้พลาสติกสามารถกลับมาใช้ได้ในรูปแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า ของใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าพลาสติกไปอยู่ในกองขยะ จะกลายเป็นปัญหา ดังนั้นนั้นควรแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เพื่อไม่ให้ปริมาณขยะไปสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งบนบกและในทะเล”
11 กรกฏาคม 2561