ตามรอย “เนวิเกเตอร์” พาเที่ยว “แอ่งทะเลตะวันตก”
ตามที่รัฐบาลกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันมีรายได้สูงอยู่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว คนไทยมีความสุข อยู่ดี กินดี สังคมมีความมั่นคงเสมอภาค และเป็นธรรม เพื่อมุ่งสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน รวมทั้งแผนพัฒนาท่องเที่ยวแห่งชาติฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560 - 2564 ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาภายใต้วิสัยทัศน์ ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพชั้นนำของโลกที่เติบโตอย่างมีสมดุลยภาพ บนพื้นฐานความเป็นไทยเพื่อเสริมสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและกระจายรายได้สู่ประชาชนทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืน
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)ได้ให้ความสำคัญเน้นการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน และเชื่อมต่อกับเศรษฐกิจโลกอย่างมีคุณภาพด้วยสินค้า และบริการที่มีคุณภาพและมูลค่าผ่านการสร้างสรรค์ และส่งเสริมสินค้าการท่องเที่ยวโดยเฉพาะในระดับท้องถิ่นด้วยนโยบายการมุ่งสร้างประสบการณ์ใหม่ของการท่องเที่ยวและการสร้างสรรค์สินค้าทางการท่องเที่ยวใหม่ๆ อาศัยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์เพื่อเป็นการรองรับการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทย
ผอ.คมกริช ด้วงเงิน
ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการบริการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
สำหรับทริปนี้ท่าน ผอ.คมกริช ด้วงเงิน ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการบริการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ให้ความสำคัญกับเส้นทางท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและสนับสนุนส่งเสริมรายได้สู่ชุมชนที่ยั่งยืน ท่านได้พาคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมกันนั้นยังเป็นเส้นทาง ตามรอย “เนวิเกเตอร์” พาเที่ยว “แอ่งทะเลตะวันตก” ณ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็น 1 ใน ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทยในพื้นที่ 8 เขตพัฒนาการท่องเที่ยวคลัสเตอร์ จะไปที่ไหนกันบ้างเชิญติดตามได้เลยค่ะ
ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี
ศูนย์ศึกษาการเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี ตั้งอยู่ตำบลปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรีจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีพื้นที่กว้างใหญ่ถึง 786 ไร่เขียวขจีไปด้วยพันธุ์ไม้ป่าชายเลนที่ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น ก่อนที่ป่าจะอุดมสมบูรณ์เช่นวันนี้ แต่เดิมป่าชายเลนของปากน้ำปราณเคยตกอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมอย่างหนัก สาเหตุมาจากการทำนากุ้งจนทำให้ดินเสีย ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเสื่อมโทรมของป่าชายเลนแห่งอื่นๆ เช่นกันจนเมื่อปี 2539 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาที่วนอุทยานปราณบุรีและทรงมีความห่วงใยต่อสถานการณ์ป่าชายเลนบริเวณปากน้ำปราณบุรี ทำให้กรมป่าไม้ยกเลิกการต่อใบอนุญาตการใช้พื้นที่ป่าชายเลนในบริเวณดังกล่าว จากนั้นจึงเริ่มปลูกป่าชายเลนขึ้นอย่างจริงจังในปี 2540 โดยความร่วมมือของชาวชุมชนปากน้ำปราณ และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ด้วยการเลือกพันธุ์ไม้ให้เหมาะสมกับพื้นที่และปลูกป่าชายเลนขึ้นมาตามโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ และในปี 2547 ได้พัฒนาแปลงปลูกป่าชายเลนบางส่วนให้เป็นศูนย์ศึกษาระบบนิเวศป่าชายเลนและห้องเรียนรู้เกี่ยวกับทรัพยากรป่าชายเลนโดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ พระราชทานชื่อว่า “สิรินาถราชินี” จนมาถึงปัจจุบัน
กิจกรรมที่น่าสนใจของศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินีจัดทำเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติจัดทำเป็นสะพานไม้ทอดยาวประมาณ 1 กม. ลัดเลาะไปตามป่าชายเลนซึ่งเราจะได้ชมพันธุ์ไม้ชนิดต่างๆ ทั้งโกงกาง โปรงแดง ตะบูนดำ โดยจะมีป้ายให้ความรู้อยู่เป็นระยะ นอกจากนี้ยังได้เห็นสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ ที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลน เช่น ปูก้ามดาบ หอยขี้กา กุ้งดีดขัน เป็นต้น และยังมีหอคอยสำหรับชมวิว สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ของป่าชายเลนสิรินาถในมุมกว้าง 360 องศา
ถ้ำพระยานคร
ตั้งอยู่ที่อำเภอสามร้อยยอดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นถ้ำขนาดใหญ่ บนเพดานถ้ำมีปล่องให้แสงสว่างลอดเข้ามาได้ ถ้ำพญานครที่ทำให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว คือ พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ ที่ตั้งอยู่ภายในถ้ำเป็นพลับพลาแบบจตุรมุขโดยจะยิ่งมีความงดงามยิ่งขึ้นในช่วงเวลาที่แสงอาทิตย์ส่องลอดผ่านกระจกปล่องของถ้ำลงมากระทบกับพระที่นั่งแห่งนี้ เป็นภาพที่เห็นแล้วดั่งต้องมนต์สะกด
พระที่นั่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ คราวเสด็จประพาสเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2533 ถ้ำพญานครเป็นฝีพระหัตถ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์ สร้างขึ้นในกรุงเทพฯ แล้วส่งมาประกอบทีหลังโดยให้พระยาชลยุทธโยธินเป็นนายงานก่อสร้าง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จมายกช่อฟ้าด้วยพระองค์เอง ส่วนกำแพงหินด้านขวามีพระปรมาภิไธยในรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๗ เป็นตัวหนังสือใหญ่สีขาวสะดุดตา พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์นอกจากเป็นจุดเด่นของถ้ำพระยานครแล้ว ยังเป็นตราประทับยังเป็นตราประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในปัจจุบัน
บ้านรวมไทย อำเภอกุยบุรี
หมู่บ้านแห่งนี้ถือกำเนิดจากพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมอบพื้นที่ทำกินให้ราษฎร จึงมีการอพยพจากหลายถิ่นฐานมาจับจองพื้นที่ดังกล่าว จนเป็นที่มาของชื่อ “หมู่บ้านรวมไทย” สัมผัสเสน่ห์ของชุมชนในแง่มุมต่างๆ เริ่มด้วยการเที่ยวชมธรรมชาติ จุดชมวิว และการเรียนรู้แปรรูปผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น
ชมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม หนึ่งในกิจกรรมการเยี่ยมชมการท่องเที่ยวโดยชุมชน ณ หมู่บ้านรวมไทย โดยการเรียนรู้ ฟังบรรยาย และยังมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ขนุนทอดกรอบ การผลิตของที่ระลึก หลายชนิด พร้อมจำหน่ายในราคาพิเศษ
อุทยานแห่งชาติกุยบุรี
“อุทยานแห่งชาติกุยบุรี” ผืนป่าที่ได้สมญานามว่า “กุยบุรี ซาฟารีเมืองไทย” ตั้งอยู่ตำบลหาดขาม อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีความหาหายทางระบบนิเวศและชีวภาพสูง เป็นแหล่งรวมพรรณไม้หายาก และเป็นถิ่นอาศัยของสัตว์ป่า เช่น ช้างป่า กระทิง วัวแดง เสือโคร่ง เก้งหม้อ กวาง สมเสร็จ ไก่ฟ้าหน้าเขียว และนกนานาชนิด เป็นป่าต้นน้ำลำธาร มีเนื้อที่ประมาณ 605,625 ไร่ หรือ 969 ตารางกิโลเมตร
กิจกรรมชมช้างป่า กระทิง วัวแดงออกหากิน และสัตว์ป่าได้ คือ ช่วงเช้าตรู่และเย็น เวลาที่เหมาะสมที่สุดคือ 15.00 - 18.00 น. ไม่ควรเข้าไปใกล้กับช้างป่าหรือสัตว์ป่าทุกชนิด, ควรสวมใส่เสื้อสีเรียบไม่ฉูดฉาด ไม่ส่งเสียงดัง ใช้กล้องไม่เปิดแฟลช
สวนเกษตร ทุเรียนหมอนทอง ป่าละอู
เป็นทุเรียนพันธุ์ "หมอนทอง"พระราชทาน จากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า ให้แก่ตำรวจตระเวนชายแดน นำไปปลูกที่ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ ครั้งเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎร ด้วยสภาพอากาศบริสุทธิ์ และดินน้ำสมบูรณ์ ทำให้ต้นทุเรียนเจริญเติบโตเป็นอย่างดีและมีความพิเศษที่รสชาติอร่อย เมล็ดเล็กลีบ เนื้อเนียนนุ่ม (ต่อมาชาวบ้านป่าละอูได้ทำการขยายพันธุ์ทุเรียนพระราชทานนำไปปลูกในที่ดินของตนเองจนกลายเป็นผลไม้ที่ปลูกมากที่สุดในตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ ในปัจจุบัน)
สภาพทั่วไปเป็นป่าดิบชื้น มีฝนตกชุก ในฤดูฝนจะมีน้ำไหลบ่า พัดพาแร่ธาตุอาหารมาเติมให้กับพื้นที่การเกษตร เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการปลูกผลไม้ ทำให้ทุเรียนป่าละอูมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น เฉพาะตัว มีรสหวาน เนื้อหนาเนียนละเอียด สีเหลืองอ่อน เนื้อแห้งมีความมันมากกว่าความหวาน กลิ่นไม่รุนแรง และได้รับการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI “ทุเรียนป่าละอู” กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
การรับรองคุณภาพ โดยมีสหกรณ์ทำหน้าที่รวบรวมผลผลิตทุเรียน มีการกำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐาน และราคาขายเป็นมาตรฐานเดียวกัน มีสติ๊กเกอร์กำกับเพื่อบอกแหล่งผลิต วันหมดอายุ เพื่อสะดวกต่อการควบคุมคุณภาพและการตรวจสอบย้อนกลับได้อีกด้วย
เส้นทางท่องเที่ยว “แอ่งทะเลตะวันตก” จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นอกจากที่กล่าวมาแล้วนั้น ยังมีที่เที่ยวอีกมากมาย อย่างเช่น ศูนย์หัตถกรรมทอผ้าบ้านเขาเต่า อันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ , For Art's Sake พิพิธภัณฑ์ภาพ 4 มิติแห่งแรกในประเทศไทย, บ้านศิลปิน หัวหิน แหล่งรวบรวมงานศิลปะ ของศิลปินที่มีอุดมการณ์เดียวกัน, ชายหาด ท้องทะเลที่สวยสดงดงาม และสถานที่ท่องเที่ยวอีกมากมาย การเดินทางสะดวกสบายอยู่ใกล้กรุงเทพฯ นิดเดียว ที่นี่มีสถานที่ท่องเที่ยวที่หลากหลาย หากกำลังมองหาที่เที่ยวใกล้ๆ กรุงเทพฯ เชิญมาเที่ยวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ด้วยกันนะคะ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 1672
ขอขอบคุณ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
20 สิงหาคม 2561