พส. ดึงเครือข่ายอาสาสมัครคนไทยในยุโรปร่วมส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมถ้วนหน้า
พส. ดึงเครือข่ายอาสาสมัครคนไทยในยุโรปร่วมส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมถ้วนหน้า พร้อมสร้างจิตอาสาคนรุ่นใหม่แก้ปัญหาเด็กเยาวชนในต่างแดน วันนี้ (8 ก.ย. 61) เวลา 12.00 น. นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ(อธิบดี พส.) เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (7 ก.ย. 61) เวลา 10.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวง การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดย กองหนึ่งใจ...เดียวกัน ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสวัสดิการสังคมแห่งชาติ กำหนดจัดโครงการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนปาฏิหาริย์แห่งชีวิต (Miracle of Life) ภายใต้ "กิจกรรมการประชุมเครือข่ายองค์การสวัสดิการสังคมในต่างประเทศ ณ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี” ระหว่างวันที่ 7 - 9 กันยายน 2561 โดยมีผู้แทนองค์การสวัสดิการสังคมในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และองค์กรสาธารณประโยชน์ในภูมิภาคยุโรป อาทิ ประเทศฟินแลนด์ นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์ เข้าร่วมโครงการจำนวนทั้งสิ้น 70 คน
โดยมี พระโพธิคุณวิเทศน์ เจ้าอาวาส วัดพุทธวิหาร และประธานศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กรุงเบอร์ลิน เป็นประธานเปิด พร้อมด้วย นายชัยสิริ อนะมาน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ นายธีรวัฒน์ ภูมิจิตร เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน ให้เกียรติเข้าร่วมงาน นางนภา กล่าวต่อไปว่า จากข้อมูลกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล กระทรวง การต่างประเทศ ในปี 2559 ได้ระบุข้อมูลว่า มีคนไทยพำนักอาศัยในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเป็นจำนวน 100,000 คน และ จากการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมสำหรับกลุ่มคนไทยในต่างประเทศ ในปี 2560 พบว่า หญิงไทยที่แต่งงานกับ ชายชาวเยอรมันมักประสบปัญหาครอบครัว การหย่าร้าง การถูกกระทำรุนแรง และการดำรงชีวิตในสังคมอย่างไม่สุขสบายตามที่คาดหวัง ในขณะที่เด็กและเยาวชน
ซึ่งเป็นลูกติดแม่ที่เดินทางจากประเทศไทยเพื่อไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ มักประสบปัญหาการปรับตัว และมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม อาทิ ไม่สนใจการเรียน คบเพื่อนกลุ่มเสี่ยง ชอบกระทำความรุนแรง มีพฤติกรรมก้าวร้าว และติดยาเสพติด เป็นต้น และเด็กที่เกิดจากบิดาชาวต่างประเทศมักเกิดปัญหาเด็กข้ามวัฒนธรรม ซึ่งเด็กและเยาวชนเหล่านี้ไม่ทราบช่องทางในการขอความช่วยเหลือจากองค์กรภาคเอกชน และองค์กรราชการ นอกจากสถานเอกอัครราชทูตในถิ่นพำนัก นางนภา กล่าวต่ออีกว่า กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้น้อมนำพระดำริของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ในการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีจิตสำนึกต่อส่วนรวม ด้วยการปลูกฝังการเป็น “ผู้ให้” อันเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม ตามกรอบแนวคิดพัฒนาเพื่อการแบ่งปันที่ยิ่งใหญ่ “Shift and Share” รวมทั้งพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2550 เพื่อส่งเสริมให้คนไทยรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ด้วยจิตอาสา รู้จักการให้ การแบ่งปัน และรวมกลุ่มจดทะเบียนเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ เพื่อผลักดันให้มีองค์กรในต่างประเทศในการช่วยเหลือ การป้องกัน การแก้ปัญหา การพัฒนา และการส่งเสริมความมั่นคงทางสังคมของประชาชนกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งกลุ่มเด็กและเยาวชนไทย ซึ่งเป็นการตอบสนองความจำเป็นขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งตนเองได้อย่างมั่นคง เหมาะสม และเป็นธรรม
ซึ่งข้อกำหนดคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติว่าด้วย การกำหนดบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเป้าหมายเป็นผู้รับบริการสวัสดิการสังคม พ.ศ. 2555 ได้กำหนดให้คนไทยในต่างประเทศเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สมควรได้รับบริการสวัสดิการสังคม พร้อมทั้งกำหนดมาตรการและข้อเสนอแนะในการจัดสวัสดิการสังคมสำหรับคนไทยในต่างประเทศ รวมทั้งกลุ่มเด็กและเยาวชนไทย นางนภา กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ พส. โดย กองหนึ่งใจ...เดียวกัน ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสวัสดิการสังคมแห่งชาติ ได้กำหนดจัดโครงการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนปาฏิหาริย์แห่งชีวิต (Miracle of Life) ระหว่างวันที่ 6 - 13 กันยายน 2561 เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกและสร้างคนรุ่นใหม่เป็นอาสาสมัครในต่างประเทศ สำหรับทดแทนอาสาสมัครที่เข้าสู่ภาวะสูงวัย ด้วยการพัฒนางานอาสาสมัครในต่างประเทศ ด้วยกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างจิตอาสาแก่อาสาสมัครรุ่นใหม่ได้รู้จักการให้การแบ่งปัน และการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมในถิ่นพำนักอย่างถ้วนหน้า รวมทั้งการป้องกันและแก้ไขปัญหาทางสังคมของกลุ่มคนไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะปัญหาด้านเด็กและเยาวชน อีกทั้งเพื่อส่งเสริมให้คนไทยรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ด้วยจิตอาสา และรวมกลุ่มจดทะเบียนเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ เป็นการส่งเสริมระบบ งานอาสาสมัครในต่างประเทศ โดยได้มีการกำหนดจัดกิจกรรมสำคัญ ดังนี้ 1) การประชุมเครือข่ายองค์การสวัสดิการสังคมในต่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สำหรับผู้แทนองค์การสวัสดิการสังคมในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และองค์กรสาธารณประโยชน์ในภูมิภาคยุโรป อาทิ ประเทศฟินแลนด์ นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์ จำนวน 70 คน 2) การอบรมพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนไทยในต่างประเทศเพื่อการแบ่งปันที่ยิ่งใหญ่ Shift and Share จำนวน 30 คน ณ กรุงเบอร์ลิน 3) การประชุมคณะทำงานศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ณ วัดพุทธวิหาร กรุงเบอร์ลิน 4) การประชุมคณะทำงานส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมสำหรับกลุ่มคนไทยในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ณ กรุงเบอร์ลิน และ 5) การประชุมชี้แจงผู้แทนมูลนิธิ สมาคม ชมรม และกลุ่มคนไทยในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยื่นคำขอและการรับรองเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ และการยื่นโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ ณ กรุงเบอร์ลิน “สำหรับเมื่อวานนี้ (7 ก.ย. 61) ซึ่งเป็นวันแรกของการประชุมเครือข่ายองค์การสวัสดิการสังคมในต่างประเทศ โดยมีการจัดกิจกรรมสำคัญ ประกอบด้วย 1) การมอบโล่อาสาสมัครดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 3 ราย ซึ่งเป็นอาสาสมัครคนไทยในภูมิภาคยุโรป 2) การมอบใบรับรองการเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ จำนวน 3 องค์กรในภูมิภาคยุโรป จากประเทศฟินแลนด์ นอร์เวย์ และสวิตเซอร์แลนด์ 3) การบรรยายพิเศษ หัวข้อ "การบูรณาการบทบาทและหน้าที่ของ กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวง การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในส่วนของการคุ้มครองดูแลคนไทยในต่างประเทศ" โดย นางภัทรัตน์ หงส์ทอง รองอธิบดีกรมการกงสุล 4) การอภิปราย หัวข้อ "การพัฒนาสังคมและสวัสดิการสำหรับกลุ่มคนไทยในต่างประเทศ" โดย ผู้แทนกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวง พม. 5) การนำเสนอผลการดำเนินงานโครงการ จำนวน 4 โครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมสวัสดิการสังคมแห่งชาติ โดยองค์กรสาธารณประโยชน์ในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และ 6) การถอดบทเรียนประสบการณ์การดำเนินโครงการด้านการจัดสวัสดิการสังคมสำหรับ กลุ่มคนไทยในต่างประเทศ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงสวัสดิการในถิ่นพำนักและการนำศักยภาพและทุนทางสังคมมาพัฒนาถิ่นกำเนิด การพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน 2 วัฒนธรรม และการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิสตรีและครอบครัวไทย ในต่างประเทศ” นางนภา กล่าวในตอนท้าย
8 กันยายน 2561