Thai Herb InnoBiz Network 2017
โอกาสและศักยภาพของอุตสาหกรรมสมุนไพรของประเทศไทย
ปัจจุบันความต้องการของสมุนไพรในประเทศไทยและตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เนื่องมาจากความสนใจในการดูแลสุขภาพด้วยผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติและสมุนไพรที่ปัจจุบันสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้หลากหลายผลิตภัณฑ์โดยอุตสาหกรรมสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ของไทยได้รับการคาดการณ์ว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ และเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของเกษตรกรและผู้ประกอบการ SMEs ของไทยที่สามารถสร้างรายได้ ได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ด้วยกระแสและแนวโน้มการดูแลสุขภาพ ด้วยวิธีธรรมชาติ จากสมุนไพรของคนไทยและโลก ทำให้มีแนวคิด ในการใช้สมุนไพร เพื่อเป็นทางเลือก ในการรักษาโรค และเสริมสร้างสุขภาพ เริ่มมีมากขึ้น ซึ่งช่วยสร้าง ความมั่นคงทางด้านสุขภาพ ด้วยวิธีธรรมชาติ และยังช่วยลดภาระ ค่าใช้จ่าย ด้านสุขภาพอีกทางหนึ่งด้วย
ด้วยความต้องการใช้สมุนไพรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งความต้องการในการบริโภคเพื่อการสร้างเสริมและดูแลสุขภาพของประชาชน รวมถึงความต้องการสมุนไพรเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ส่งผลทำให้สมุนไพร ถูกนำไปใช้ ในอุตสาหกรรม หลายประเภทมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรม แปรรูป อุตสาหกรรมผลิตยาแผนไทย อุตสาหกรรมผลิตยาพัฒนาจากสมุนไพรและอุตสาหกรรมสมุนไพรแปรรูปแบบต่างๆ เช่น สารสกัดจากสมุนไพรเครื่องสำอางค์ ผลิตภัณฑ์สปา เป็นต้น
จากการประเมินศักยภาพของอุตสาหกรรมสมุนไพร พบว่า อุตสาหกรรมสมุนไพรเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ และสามารถสร้างความยั่งยืนในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้งที่เป็นอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-Curve) และที่ถูกคาดการณ์ว่าจะเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (Future S-Curve) โดยการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของสินค้าและเทคโนโลยี และสามารถสร้างรายได้ให้กับประชากรและประเทศ
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ และพร้อมไปด้วยทรัพยากรทางชีวภาพของพืชและสัตว์สูงเป็นอันดับต้นของโลก ปัจจุบันประเทศไทยมีพืชสมุนไพร 11,625 ชนิด แต่มีเพียง 1,800 ชนิดเท่านั้น หรือร้อยละ 15.5 ของทั้งหมดที่ได้นำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ โดยผลิตภัณฑ์สมุนไพรประเภทอาหารเสริม (Nutraceuticals) และเวชสำอาง (Cosmeceuticals) เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมและมีศักยภาพมากที่สุด เห็นได้จากความต้องการจากผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ในขณะที่สมุนไพรเพื่อการรักษาโรค (Herbal Medicine) นั้นพบว่าส่วนใหญ่เป็นการใช้สมุนไพรเพื่อรักษาแบบตะวันตก (Western Herblism) โดยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 50.9 ของความต้องการใช้สมุนไพรทั้งหมด ขณะที่การใช้สมุนไพรเพื่อการรักษาแบบจีน (Traditional Chinese Medicine) มีสัดส่วนตลาดรองลงมา (ร้อยละ 8.2) และอายุรเวท (ร้อยละ 6.3) ตามลำดับ
เมื่อพิจารณาความต้องการใช้สมุนไพร และผลิตภัณฑ์สมุนไพรของต่างประเทศ พบว่ายุโรปเป็นตลาดที่มีความต้องการสมุนไพรมากที่สุด ในขณะแต่ตลาดสมุนไพรในภูมิภาคอาเซียนแปซิฟิก มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยต่อปี (Compound Annual Growth Rate : CAGR) ประมาณร้อยละ 9.1 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดต่างๆ ทั่วโลก
จากผลการสำรวจตลาดและการคาดการณ์ของ “Global Industry Analysis, Inc (ค.ศ. 2015) ได้มีการคาดการณ์ว่า ความต้องการผลิตภัณฑ์สมุนไพรเสริมอาหารและการรักษาด้วยสมุนไพร (Herbal Suppoements and Remedies) ของโลกจะมีมูลค่า 1.15 แสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปีภายในปี ค.ศ. 2020 เหตุผลที่สำคัญมาจากการให้ความสำคัญกับดูแลสุขภาพของประชากรทั่วโลก และแนวโน้มในการใส่ใจกับความงามที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ความต้องการที่มีผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ยิ่งไปกว่านั้น การพัฒนาเทคโนโลยีรวมทั้งการศึกษาวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องได้เพิ่มขีดความสามารถในการใช้สมุนไพรและสารสกัด ต่างๆ ในการดูแลเกี่ยวกับระบบประสาท (Neurocognitive) และ ฮอร์โมน (Hormone Functions) ก็มีความก้าวหน้ามากขึ้นเช่นกัน
อย่างไรก็ตามแม้ว่าสมุนไพรไทยจะถูกกล่าวถึงอย่างต่อเนื่อง และผู้ที่เกี่ยวข้องเชิงนโยบายในหลายระดับได้ให้ความสำคัญ แต่การดำเนินการที่ผ่านมานั้นยังไม่มีการดำเนินการเชิงนโยบายอย่างต่อเนื่องและจริงจัง เกิดการดำเนินการซ้ำซ้อนตลอดจนเกิดอุปสรรคจากกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องส่งผลให้อุตสาหกรรมและการตลาดของสมุนไพรได้รับการพัฒนาน้อยมากเห็นได้จากมูลค่าการผลิตของอุตสาหกรรมสมุนไพร และมูลค่าการส่งออก ยังมีไม่มากนักเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ของประเทศ รวมทั้งเมื่อเปรียบเทียบกับการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์สมุนไพรของประเทศต่างๆ เช่น จีน อินเดีย และญี่ปุ่น เป็นต้น ปัจจุบันประเทศไทยยังมีสัดส่วนมูลค่าการผลิตการบริโภค และการส่งออกส่วนใหญ่เป็นรูปของวัตถุดิบพืชสมุนไพร (เครื่องเทศ พืช ผลไม้) มากกว่าในการแปรรูปเป็นสารสกัดหรือผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจมากกว่าหลายเท่าตัว
1 กันยายน 2560