สืบสานประเพณี “อุ้มพระดำน้ำเพชรบูรณ์” หนี่งเดียวในโลก
พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ รองนายกรัฐมนตรี อดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานพิธีการประเพณี “อุ้มพระดำน้ำเพชรบูรณ์” หนี่งเดียวในโลก เมื่อวันอังคารที่ 8 ตุลาคม 2561 ณ วัดโบสถ์ชนะมาร อ.เมืองเพชร โดยมีประชาชน นักท่องเที่ยวสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ รองนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้บริเวณท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมาร ตำบลในเมือง อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ นายสืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้อัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชา พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองเพชรบูรณ์ ที่เป็นตำนานประเพณีอุ้มพระดำน้ำมายาวนาน จากมณฑปยอดปรางค์วัดไตรภูมิ ลงประดิษฐานบนเรือจัดขบวนแห่ทางน้ำในแม่น้ำป่าสัก ทวนกระแสน้ำไปยังท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมาร เพื่อประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำประจำปี 2561 มีขบวนเรือเข้าร่วมกว่า 20 ขบวน มีนักท่องเที่ยวและประชาชนนั่งชมสองริมฝั่งตลอดเส้นทางน้ำ
โดย พล.อ.ธนศักดิ์ ปฏิมาประกร รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ นายเสกสรร นิยมเพ็ง นายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์ ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการฝ่ายพลเรือน ทหาร ตำรวจ นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ รวมถึงประชาชนที่มีความเลื่อมใสศรัทธา ร่วมชมพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์อย่างเนืองแน่น เมื่อถึงเวลา 10.49 น. นายสืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารณ์ ผู้ว่าฯเพชรบูรณ์ ได้ฤกษ์งามยามดีอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชาลงดำน้ำ พร้อมกรมการเมืองทั้ง 4
นายสืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์
ประกอบด้วย (กรมการฝ่ายเวียง) นายประเสริฐ เผือดโพธิ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดเพชรบูรณ์ , (กรมการฝ่ายวัง) นายอดิเทพ กมลเวชช์ ปลัดจังหวัดเพชรบูรณ์ , (กรมการฝ่ายคลัง) นายโกวิทย์ กุลเศษรฐโสภณ ประธานมูลนิธิโรงพยาบาลหล่มสัก และ (กรมการฝ่ายนา) ผศ.ดร.ประยูร ลิ้มสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ โดยปีนี้ได้เสี่ยงทายทิศที่จะดำน้ำ ครั้งที่ 1 หันหน้าไปทางทิศใต้ ครั้งที่ 2 ทิศใต้ ครั้งที่ 3 ทิศเหนือ ครั้งที่ 4 ทิศใต้ ครั้งที่ 5 และครั้งที่ 6 ทิศเหนือ
หลังจากนั้นได้แจกข้าวต้มลูกโยน กระยาสารท ให้กับประชาชนบนฝั่ง บรรยากาศเป็นไปอย่างสนุกสนานและเปี่ยมไปด้วยศรัทธาของทุกคน ต่างแย่งสายสิญจน์จากพิธีเพื่อความเป็นสิริมงคล บางคนตักน้ำจากแม่น้ำไปประพรม เชื่อว่าหลังประกอบพิธีแล้วจะเป็นน้ำพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ งานประเพณีอุ้มพระดำน้ำจังหวัดเพชรบูรณ์ มีการจัดต่อเนื่องทุกปี เชื่อกันว่าปีใดถ้าไม่อัญเชิญพระไปดำน้ำ องค์พระจะหายไป จะเกิดข้าวยากหมากแพง จึงถือปฏิบัติกันมาต่อเนื่องยาวนาน ได้มีการจัดอย่างยิ่งใหญ่ ระหว่างวันที่ 7-12 ตุลาคม ส่วนไฮไลท์ภาคกลางคืนที่บริเวณพุทธอุทยานเพชบุระมีการแสดงสินค้า การแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น การแสดงแสงเสียงตำนานพระพุทธมหาธรรมราชาทุกคืน
ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ เป็นประเพณีที่ชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ร่วมมือกันจัดขึ้นในวันแรมสิบห้าค่ำเดือนสิบ ซึ่งประวัติความเป็นมาของประเพณีอุ้มพระดำน้ำก็คือ เมื่อประมาณ 400 ปีที่ผ่านมามีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งมีอาชีพหาปลาขาย และได้ไปหาปลาที่แม่น้ำป่าสักเป็นประจำทุกวัน อยู่มาวันหนึ่งก็ได้เกิดเรื่องที่ไม่มีใครให้คำตอบได้ว่า เกิดอะไรขึ้นเพราะวันนั้น ไม่มีใครจับปลาได้สักตัว จากนั้นก็เกิดเหตุการณ์ประหลาดขึ้นตรงบริเวณ วังมะขามแฟบ (ไม้ระกำ) ซึ่งปกติบริเวณนี้น้ำจะไหลเชี่ยวมาก จู่ ๆ น้ำก็หยุดไหล และมีพลายน้ำผุดขึ้นมา แล้วพระพุทธรูปก็ผลุดขึ้นมาด้วย ชาวบ้านจึงได้อัญเชิญพระพุทธรูปองค์ดังกล่าว ขึ้นจากน้ำและนำไปประดิษฐานไว้ที่วัดไตรภูมิ เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดเพชรบูรณ์ จนกระทั่งถึงวันสารทไทยหรือ วันแรม 15 ค่ำเดือนสิบ พระพุทธรูปองค์ดังกล่าว (พระพุทธมหาธรรมราชา) ก็ได้หายไปจากวัด ชาวบ้านจึงช่วยกันตามหาและเจอพระพุทธรูป อยู่บริเวณวังมะขามแฟบ จากนั้นเป็นต้นมา พอถึงวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 ชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ ก็จะจัดงานซึ่งเรียกว่า “อุ้มพระดำน้ำ” ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2522 เป็นต้นมา
กุญชรวารีเป็นสัตว์ในวรรณคดี ในทะเลสีทันดร มีพลังมาก มีหัวเป็นช้าง คอเป็นม้า มีปีกเหมือนนก
ลำตัวเป็นปลา นอกจากเป็นสัตว์ว่ายน้ำได้แล้ว กุญชรวารียังอยู่รอดได้ในทะเลสีทันดร
ความพิเศษของปีนี้คือ เรืออัญเชิญองค์พระมหาธรรมราชามีหัวโขนเรือชื่อว่า กุญชรวารี เป็นครั้งแรก จากเดิมใช้หัวโขนเรือกาญจนาคามาตั้งแต่ปี 2550 โดยกุญชรวารีเป็นสัตว์ในวรรณคดี ในทะเลสีทันดร มีพลังมาก มีหัวเป็นช้าง คอเป็นม้า มีปีกเหมือนนก ลำตัวเป็นปลา นอกจากเป็นสัตว์ว่ายน้ำได้แล้ว กุญชรวารียังอยู่รอดได้ในทะเลสีทันดร เพราะทุกอย่างจะจมในน้ำหมดแม้แต่ขนนก มีเพียงกุญชรวารีเท่านั้นที่สามารถอยู่รอดได้ จึงเชื่อว่า สามารถนำพาพระมหาธรรมราชาให้ผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆไปได้ สำหรับปีหน้าจะมีการอัญเชิญโขนหัวเรือใหม่ชื่อว่า ”เหมะวารี”
ก่อนหน้าพิธีแห่และพิธีอุ้มพระดำน้ำ นี้ ได้มีพิธีรำถวายก่อน โดยมีผู้เข้าร่วมรำชายหญิงรวม 2,561 คน ทั้งนี้ในอนาคตจะมีการผลักดันประเพณีอุ้มพระดำน้ำให้เป็นพิธิการยิ่งใหญ่ระดับสากล เป็นมหาพุทธประเพณีในอาเซียน
ขอขอบคุณ
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
ภาพ ศุภสวัสดิ์ เพียรธัญกรณ์
10 ตุลาคม 2561