โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี จังหวัดจันทบุรี V
20. บ้านน้ำใส หมู่ ๑๑ ตำบลทุ่งเบญจา อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
“วัดพระนอนองค์ใหญ่ พริกไทยปลอดสาร ตำนานกาแฟเล่าขาน หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง มีชื่อเสียงเรื่องจิตสาธารณะ มุ่งมั่นมีมานะ ยึดธรรมะเป็นแนวทางชีวิต”
ประวัติความเป็นมา
ชุมชนเกษตรกรรมที่มีวิถีชีวิตเรียบง่าย ท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อม โดยคนในชุมชนมีความเชื่อมโยงกับพุทธศาสนา และสืบสานงานศิลปหัตถกรรมอันงดงามไว้
วัดสะพานเลือก
วัดที่สวยงาม ซึ่งภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ หรือพระนอนใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีความยาว ๕๖ เมตร เท่าบทพุทธคุณ ๕๖ พยางค์ มีความสูงจากฐาน ๑๖ เมตร หรือ ๑๖ ชั้นฟ้า มีความศักดิ์สิทธิ์มาก เมื่อชาวบ้านขอพรแล้วสมหวัง มักถวายผ้าห่มคลุมองค์พระนอน
งานศิลปหัตถกรรรมตอกภาพ ลูกโลก และพวงมโหตร
สิ่งหนึ่งที่บ่งบอกความผูกพันธ์ของคนในชุมชนและวัด คือการอนุรักษ์งานหัตถกรรมเหล่านี้เพื่อตกแต่งสถานที่ ทั้งวัดและบ้านเรือน เมื่อมีงานบุญ หรืองานรื่นเริงต่างๆ โดยใช้ “กระดาษว่าว” วัสดุที่ไม่มีสารเคมีเจือปน โดยช่างฝีมือพร้อมมีการสาธิตให้ชม หรือเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวทดลองทำด้วย
ฟาร์มเกษตรผสมผสาน
นั่งรถเข้าไปในฟาร์มเกษตรอันอุดมสมบูรณ์และเขียวขจี เช่น ทุเรียน มังคุด ลองกอง เงาะ ฯลฯ รวมทั้งพืชเศรษฐกิจประจำถิ่นอย่างสวนพริกไทย ที่มีบรรยากาศดี จนลืมไปเลยว่าอยู่ในประเทศไทย
อาหารท้องถิ่น
“น้ำพริกสลัดขน” หรือน้ำพริกมะอึก คือน้ำพริกกะปิที่ผสมผลมะอึกเพื่อให้ได้รสชาติที่ละมุนขึ้น รับประทานกับชะอมชุบแป้งทอด และผักสดตามฤดูกาล “แกงผัดกระออมปลาดุก” ผักท้องถิ่นผัดกับเครื่องแกงและกะทิ เมนูนี้ถ้าเป็นแกงป่าจะชูรสด้วย “หัวเร่ว” และ “กระวาน” สมุนไพรท้องถิ่นเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมี “แกงส้มใบแต้ว” รวมทั้ง “มัสมั่นทุเรียน” และ “ต้มจืดลูกเงาะสอดไส้หมูสับ” ในช่วงที่ฤดูทุเรียน และเงาะ
ผลิตภัณฑ์ชุมชน
ผักสดปลอดสารพิษ ผลไม้ปลอดสารพิษ พริกไทยแห้งพันธุ์ซาราวัก เงาะลอยแก้ว แครกเกอร์กล้วยกรอบ กล้วยฉาบ เผือกฉาบ
น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างจาน น้ำยาล้างรถ น้ำยาล้างพื้น เสื้อยืด หมวก พวงกุญแจ แก้วเก็บความเย็น
ข้อมูลติดต่อ
บ้านน้ำใส หมู่ ๑๑ ตำบลทุ่งเบญจา อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
คุณจิดาภา ธนะมูล โทร. ๐๘๕ ๒๑๑ ๑๓๓๕
21. บ้านท่าศาลา หมู่ ๓ ตำบลรำพัน อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
“ตำนานเมืองเก่า เรื่องเล่ามณฑลท่าศาลา เฟื่องฟูการค้า พัฒนาวิสาหกิจชุมชน”
ประวัติความเป็นมา
ชุมชนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและหัตถกรรมจักสาน โดยมีวัดท่าศาลาเป็นศูนย์กลางชุมชน ทั้งชาวบ้านหมู่ ๓ ท่าศาลา หมู่ ๑ หนองหอย หมู่ ๒ เตาหม้อ และหมู่ ๔ ทุ่งสน ซึ่งในวันพระ ชาวบ้านจะมาร่วมทำบุญและเมื่อถึงเทศกาลเข้าพรรษาคนเฒ่าคนแก่จะพากันมาถือศีลที่วัด
วัดท่าศาลา
ประดิษฐานพระประธานที่ขึ้นชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ และศาลเจ้าแม่ตะเคียนทอง ซึ่งชาวบ้านได้ขุดพบท่อนไม้ตะเคียนทองที่ถูกฝังอยู่ใต้ดินบ้านหนองหอย มีความยาวถึง ๑๓ วา หรือราว ๒๖ เมตร เมื่อนำมาไว้ที่วัด และมีชาวบ้านมาขอพรเรื่องโชคลาภ หากสมหวังดังที่ขอพร ชาวบ้านจะถวายชุดไทย และร่ายรำ
งานจักสาน
ต้นไผ่ที่นำมาเหลาเป็นเส้น สานเป็นภาชนะต่างๆ ใช้งานในครัวเรือน และวิถีเกษตรกร เช่น ตระกร้า กระจาด กระบุง ข้องดักปลา ฯลฯ ละเอียดพิถีพิถันด้วยด้วยลวดลายโบราณ และลวดลายร่วมสมัย ซึ่งแต่ละลายจะต่างกันไปตามภาชนะ อีกทั้งมีความแข็งแกร่งด้วยคุณสมบัติที่โดนน้ำทะเลได้ เพียงแค่ต้องผึ่งแดดให้แห้ง ก็จะใช้งานได้นานหลายปี
ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง กลุ่มเกษตรกรท่าศาลา
บนพื้นที่ ๓๒ ไร่ ของคุณมะลิ คันธีระ ที่ได้รับตกทอดมาจากบรรพบุรุษได้ทำการเกษตร “ทฤษฎีใหม่” ประกอบด้วยบ้านอยู่อาศัย นาข้าวที่ปลูกข้าวพันธุ์ ๑๐๕ และพันธุ์ ๖๗ จากศูนย์ข้าวปราจีนบุรี รวมทั้งแหล่งน้ำธรรมชาติ ๔ บ่อ เพื่อดำรงชีพ และทำการเกษตรในสวนยางพารา สวนผลไม้ สวนพืชผัก ฯลฯ
อาหารท้องถิ่น
อาหารพื้นบ้านจากวัตถุดิบสดๆ “ลาบผักกูด” ผักที่ขึ้นตามป่าเขาและร่องสวน คัดยอดอ่อนปรุงรสยำ ใส่หมูสับและข้าวคั่ว “ไก่ต้มระกำ” ไก่บ้านปรุงรสต้มยำ ได้ความเปรี้ยวจากผลระกำ ขนมหวาน “บัวลอยมังคุด” นำเนื้อมังคุดสุกคลุกแป้งบัวลอย ปั้น และต้มกับกะทิสด โรยด้วยเนื้อมะพร้าวอ่อน และยังมีแป้งจากดอกอัญชัญ และใบเตยด้วย
ผลิตภัณฑ์ชุมชน
น้ำมังคุดสกัด น้ำลูกหม่อน หม่อนกวน มังคุดกวน ท็อฟฟี่ถั่วลิสงกะทิสด พริกไทยแห้ง เห็ดหลินจืออบแห้ง กะปิเคยเจ้าหลาว โลชั่นหม่อน สบู่เหลวเปลือกมังคุด สบู่เปลือกมังคุด ยาหม่องเปลือกมังคุด
ข้อมูลติดต่อ
บ้านท่าศาลา หมู่ ๓ ตำบลรำพัน อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
คุณสุรีย์ จันทสิทธิ โทร. ๐๘๐ ๖๓๑ ๗๖๘๘
22. บ้านถนนมะกอก หมู่ ๗ ตำบลตะกาดเง้า อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
“พระธาตุคู่บุญ กองทุนหมู่เจ็ด รสเด็ดหอยนางรม เที่ยวชมป่าชายเลน”
ประวัติความเป็นมา
ชุมชนที่มีภูมิทัศน์คล้ายเกาะ จึงอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้ และสัตว์น้ำ อาชีพหลัก คือ การทำประมง เลี้ยงกุ้ง ปลากะพง และฟาร์มหอยนางรมอันเลื่องชื่อ
ไหว้พระธาตุบุญแจ่มฟ้า
พระธาตุบุญแจ่มฟ้าฯ ก่อตั้งโดยหลวงพ่อดาบส สุมโน ซึ่งท่านได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานยังองค์พระเจดีย์ ส่วนพระวิหารเป็นลักษณะผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมภาคเหนือและภาคกลางโบราณ
ยอดเป็นรูปเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ ภายในประดิษฐาน “ พระแก้วมรกตหยกเขียว ” และประดับด้วยจิตรกรรมภาพพุทธประวัติ และภาพวาดสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตอนทุบหม้อข้าวก่อนเข้าตีเมืองจันทบูร
ล่องเรือชมฟาร์มหอยนางรม
เส้นทางการชมฟาร์มหอยนางรมของชุมชน สามารถเดินทางได้โดยการล่องเรือ และการล่องแพ ได้สัมผัสธรรมชาติ พร้อมชมวิถีชีวิตชาวประมงในฟาร์มหอยนางรม การแกะหอย ชิมหอยนางรม แม้ตัวไม่โต แต่รสชาติเป็นเลิศ หอยนางรมของชุมชนถนนมะกอกมีให้กินเกือบทั้งปี ยกเว้นเดือนสิงหาคมเป็นช่วงวางไข่ของหอยนางรม นอกจากชมฟาร์มหอยนางรมแล้ว ยังได้ชมวิวป่าชายเลนที่สมบูรณ์ตลอดสองฝั่งคลอง
อาหารท้องถิ่น
ตะกาดเง้าขึ้นชื่อเรื่องฟาร์มหอยนางรม “หอยนางรมซีฟู้ด” จึงเป็นจานเด่นห้ามพลาด แม่ครัวจะคัดหอยสดอายุ ๑๒ เดือน ตัวไม่ใหญ่มาก แต่เนื้อหวาน ไม่คาว เสิร์ฟพร้อมยอดกระถิน หัวหอมเจียว น้ำจิ้มพริกเกลือหรือน้ำจิ้ม
ซีฟู๊ด น้ำพริกเผาหอยนางรม “ปลากระพงทอดแดดเดียว” ที่นำปลากะพงอายุ ๖ เดือน มาตากแดดเดียว ซึ่งมีให้รับประทานตลอดปีเช่นกัน “ชมโฉมแม่นาง” หรือต้มยำทะเลน้ำข้น ที่ยกทะเลมาใส่ ทั้งกุ้ง หอยนางรม ปลากระพง ปลาหมึก ใส่น้ำพริกเผาหอยนางรม และนมสด
ผลิตภัณฑ์
น้าพริกเผาหอยนางรม คั่วกลิ้งหอยนางรม ปลาหวานปรุงรส กุ้งแห้ง กล้วยตาก กล้วยฉาบ ขนมรักกันด้วยใจหรือขนมที่ห่อด้วยใบจาก กระเป๋า เสื้อ หมวก พวงกุญแจ แมกเน็ต
ข้อมูลติดต่อ
บ้านถนนมะกอก หมู่ ๗ ตำบลตะกาดเง้า อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
คุณเสนาะ เกยชัย โทร. ๐๘๗ ๐๒๘ ๓๕๗๘
23. บ้านปากน้ำแขมหนู หมู่ ๙ ตำบลตะกาดเง้า อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
“บ้านปากน้ำแขมหนู หินสีชมพูสดใส อาหารทะเลสดใหม่ โบสถ์สีน้ำเงินงามวิไล แลนด์มาร์คใหม่เมืองจันทบุรี”
ประวัติความเป็นมา
ทุกเช้าที่ท่าเรือของชุมชนชาวประมงบ้านปากน้ำแขมหนู จะมีบรรยากาศคึกคักของการค้าขายอาหารทะเลใกล้กันกับท่าเรือยังมีสะพานปากแม่น้ำแขมหนูเป็นจุดชมทิวทัศน์ทะเลที่สวยงามที่สุดของจังหวัดด้วย
วัดปากน้ำแขมหนู
วัดปากน้ำแขมหนู หรือ “โบสถ์สีน้ำเงิน” เพราะด้านนอกอุโบสถตกแต่งด้วยลายกระเบื้องสีน้ำเงิน ภายในมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น หลวงพ่อองค์ดำ พระพุทธชินราช หลวงพ่อโสธร รูปปั้นสมเด็จพระเจ้าตากสิน ศาลเจ้าแม่เมี้ยนที่โปรดปรานดอกไม้สีแดง หรือปลัดขิก ศาลเจ้าพ่อปากน้ำแขมหนูที่โปรดปรานเบียร์ มีร้านขายของฝากกับอาหารของชุมชน และมีถนนคนเดินช่วงวันหยุดเสาร์ – อาทิตย์
วิถีชีวิตชาวประมง
ชมบรรยากาศของเรือเล็กที่ออกไปวางอวนปูอวนกุ้ง และเรือใหญ่ที่ออกทะเลลึก โดยเรือแต่ละลำหากสังเกตุจะไม่เหมือนกัน เพราะใช้งานตามประเภท เช่น เรืออวนปู เรือจับ เรือครอบปลากะตัก เรือท่องเที่ยว เรือประมง-พาณิชย์ ฯลฯ
ล่องเรือชมทิวทัศน์
ล่องเรือสู่บริเวณต้นแม่น้ำสู่คลองวังโตนด มีทิวทัศน์ป่าชายเลน และชุมชนริมคลอง ฯลฯ ส่วนเส้นทางด้านนอกคือบริเวณปากแม่น้ำออกสู่ทะเล ชม “เขาช่อง” หรือช่องว่างระหว่างเกาะที่มีถ้ำ ซึ่งหินได้เคลื่อนตัวลงมาปิดปากถ้ำ และทุกวันพระ ชาวบ้านจะได้ยินเสียงดนตรีลอดออกมา ทั้งสองฝั่งยังเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าแม่เขาช่อง และศาลเจ้าพ่อเขาช่อง รวมทั้งสามารถเห็นทิวทัศน์แนวหินสีชมพูได้ด้วย
อาหารท้องถิ่น
“ยำไข่แมงดา” ไข่จะเยอะ มัน และอร่อยในช่วงวางไข่เดือนสิงหาคม แต่รับประทานได้ตลอดปี “น้ำพริกไข่ปู” ไข่ปูล้วนๆ มีมากในฤดูวางไข่เดือนตุลาคม – พฤศจิกายน “หมึกไข่ต้มน้ำดำ” ต้องจับแบบสดเท่านั้น จึงจะได้ “ขี้ ” สีดำแบบนี้ ต้มกับหัวหอม พริกไทย น้ำปลา จนได้ความหวานธรรมชาติ “ปลากระบอกต้มส้มระกำ” ได้รสเปรี้ยวจากระกำ และมะขามเปียก “แกงป่าปลาเห็ดโคน” หรือปลาลูกโคน หอมเครื่องแกงป่าจากใบยี่หร่า และกระชาย
ผลิตภัณฑ์ชุมชน
ปลาอินทรีย์เค็ม ปลาทูตากแห้ง ปลาหมึกกลมแห้ง ปลากะตักตากแห้ง ปลาหมึกผ่าตากแห้ง ปลากรอบปรุงรส กะปิแท้ชุมชนปากน้ำแขมหนู แมงกะพรุนอบเกลือซีฟู้ดหรืแมงกะพรุนกรอบลวกจิ้ม กุ้งแห้ง หมึกกรอบปรุงรส หมึกกลมเจาะตา
ข้อมูลติดต่อ
บ้านปากน้ำแขมหนู หมู่ ๙ ตำบลตะกาดเง้า อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
คุณวราภรณ์ รื่นจิตต์ โทร. ๐๖๕ ๓๙๓ ๕๖๓๒
24. บ้านเจ้าหลาวหัวแหลม หมู่ ๖ ตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
“สะพานปลาสุดขอบฟ้า งามตาปะการัง กะปิดังบ้านเจ้าหลาว”
ประวัติความเป็นมา
ชุมชนประมงพื้นบ้านที่มีความอุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งปลาทะเล เช่น ปลาสละ ปลาอินทรีย์ ปลากุเลา เคย ฯลฯ ในฤดูมรสุมชาวบ้านจะวางอวนกุ้ง เมื่อมรสุมผ่านไปจะวางอวนปูม้า และยังเป็นชุมชนที่ผูกพันกับพุทธศาสนา รวมทั้งเป็นแหล่งธรณีวิทยาที่มีลานหินสีชมพูในเขตห้ามล่าสัตว์คุ้งกระเบนด้วย
วัดเจ้าหลาว
เกิดจากความศรัทธาของชาวบ้านที่สร้างกุฎิให้พระธุดงค์ ก่อนเป็นสำนักสงฆ์ และวัดเจ้าหลาว ปัจจุบันมีอุโบสถหลังใหม่ที่ตระการตาด้วยซุ้มประตู ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปสีทองอร่าม ส่วนศาลาลานบุญประดิษฐาน “หลวงพ่อองค์ดำ” ที่มักให้โชคลาภ โดยชาวบ้านจะถวายน้ำมะพร้าว กล้วยน้ำว้า และจุดประทัด มีงานประจำปีคือ “ถวายผ้าไตร”
สะพานปลาท่าเทียบเรือเจ้าหลาว
“สะพานปลาสุดของฟ้า” ทอดตัวลึกเข้าไปในทะเล พร้อมวิถีชีวิตชาวประมงที่จะลากอวนกุ้งหอยปูปลาใส่รถพ่วง แล้วชาวบ้านจะล้อมวงแกะ และยังเป็นที่ตั้ง “ศาลเจ้าปู่หัวแหลมเจ้าหลาว” ที่มีความศักดิ์สิทธิ์มานับร้อยปี ชาวประมงจะมาขอพรก่อนออกเดินเรือ เมื่อสมหวังจะจัดละครชาตรีเท่งตุ๊ก ๑๒ ท่ารำ รวมทั้งถวายน้ำมะพร้าว หมากพลู ดอกไม้ ขนมเปี๊ยะ ข้าวเหนียวเปียกแดง ฯลฯ
อู่ต่อเรือลุงตื้บ
ลุงตื้บยึดอาชีพช่างต่อเรือ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมมากว่า ๓๐ ปีแล้ว และได้ถ่ายทอดวิชาให้แก่ทายาทด้วย โดยจะต่อเรือหางยาวเกือบ ๙ เมตร ราว ๑๐ ที่นั่ง จากไม้กระบาก ลำหนึ่งใช้งานได้ ๑๕-๒๐ ปี
กลุ่มกะปิแปรรูป
ชมวิถีชีวิตชาวประมงที่นำ “เคย” มาแปรรูปด้วยการหมักเกลือ ตากแดด และบด หลายขั้นตอนเพื่อให้ได้กะปิดีที่สุด
อาหารท้องถิ่น
“ก๋วยเตี๋ยวผัดเส้นจันท์“ เข้มข้นกะทิและน้ำปรุงรสที่ได้ความเปรี้ยวจากน้ำมะขามเปียกและสับปะรด “น้ำพริกกะปิ” กะปิจากเคยชั้นดีเสิร์ฟพร้อมผักท้องถิ่นนานาชนิด “ต้มยำทะเล” ที่เต็มไปด้วยกุ้งหอยปูปลา
ผลิตภัณฑ์ชุมชน
ปลากุเลาเค็ม ปลาหัวลื่นแดดเดียว กุ้งหวาน หอยเสียบสามรส กะปิสมุนไพร กะปิ เคยตากแห้ง หมึกหยอง
สินค้าที่ระลึก เช่น เสื้อยืด หมวก แก้วน้ำ ฯลฯ
ข้อมูลติดต่อ
บ้านเจ้าหลาวหัวแหลม หมู่ ๖ ตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
คุณดวงทิพย์ญามน ชักชวนวงษ์ โทร. ๐๙๓ ๙๘๗ ๙๐๙๘
23 พฤศจิกายน 2561