โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี จังหวัดจันทบุรี VI
25. บ้านท่าเรือจ้าง หมู่ ๕ ตำบลจันทนิมิต อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี
“ตำนานบ้านท่าเรือจ้าง อาสนวิหารงามหรู คู่แม่พระประดับพลอย ตามรอย ๓ วัฒนธรรม”
บ้านท่าเรือจ้างเป็นชุมชนญวนอพยพมาตั้งรกรากอยู่บริเวณท่าน้ำเมืองจันทบุรีฝั่งตะวันตกเมื่อกว่า ๓๐๐ ปีก่อน ซึ่งปัจจุบันยังคงรักษาขนบธรรมเนียมดั้งเดิมไว้ได้ พร้อมกับปรับตัวเข้ากับชุมชนพุทธได้อย่างกลมกลืน จึงมีร่องรอยประวัติศาสตร์ และความร่วมสมัยอยู่มาก
อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล จันทบุรี
เรียกกันสั้นๆ ว่า “โบสถ์คาทอลิก” คือความงามของสถาปัตยกรรมแบบโกธิค ซึ่งภายในตกแต่งอย่างวิจิตรด้วยหน้าต่างกระจกสี (Stained glass) และพื้นกระเบื้อง โดยเป็นสองสิ่งที่นำมาจากประเทศฝรั่งเศสมีอายุกว่า ๒๐๐ ปีแล้ว นอกจากนี้ ยังมีแม่พระประดับพลอย ๒๐๐,๐๐๐ เม็ด ในวิหารมีการตกแต่งเพดานเป็นท้องเรือไม้โนอาห์ ส่วนฐานของตัวโบสถ์นั้นแข็งแกร่งด้วยท่อนซุงเรียงขัดกัน โดยไม่ใช้เสาเข็ม
ศูนย์อนุรักษ์หัตถกรรมพื้นบ้านเสื่อจันทบูร
ชั้น ๓ ของโรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ได้มีการถ่ายทอดงานหัตถกรรมของชาวญวนสู่เด็กรุ่นใหม่ โดยเป็นวิชาเรียนสำหรับเด็กชั้นประถม ศึกษาปีที่ ๖ ซึ่งแต่ละคนต่างขมักเขม้นกับการทอเสื่อทั้งลวดลายโบราณ เช่น ลายช้าง ลายม้า ฯลฯ และลวดลายสมัยใหม่ที่เด็กคิดค้นขึ้นเอง เช่น ลายเลขาคณิต ลายหุ่นยนต์ ฯลฯ ที่นี่ยังมีผลิตภัณฑ์สานจากกกเป็นจำนวนมากด้วย
ห้องพิพิธภัณฑ์
ชั้น ๔ ของโรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ เป็นสถานที่รวบรวมข้าวของเครื่องใช้ และของตกแต่งบ้านเรือนในอดีตที่มีมากนับร้อยรายการ รวมทั้งการจำลองแหล่งท่องเที่ยวสำคัญไว้ เสมือนว่ามาที่นี่แล้วได้เที่ยวไปทั่วจังหวัดเลยทีเดียว
เส้นทางเดินชมวิถีชีวิต และถนนศิลปะ
มีเส้นทางศึกษาวิถีชีวิตคนในชุมชน เริ่มต้น และจบลงที่วัดโรมันคาทอลิก ได้เห็นอาคารบ้านเรือนที่ปลูกสร้างด้วยไม้ ตลอดจนชุมชนริมแม่น้ำ ระหว่างทางยังผ่าน “ถนนศิลปะ” (Street art) ที่ศิลปินในท้องถิ่นจะมารวมกันวาดภาพบนกำแพง (Graffiti) เล่าเรื่องราววิถีชีวิตชุมชน ทำให้เหมาะแก่การเดินเล่นมาก
อาหารท้องถิ่น
ตั้งแต่อาหารเช้าแบบเวียดนาม เช่น ไข่กะทะ ข้ามต้มหมู ก๋วยจั๊บญวน ฯลฯ ที่เสิร์ฟพร้อมชาร้อน หรือจะเลือกเป็นกาแฟดริปจุงเวียง (Trung Nguyen) ก็ได้ ร้านก๋วยเตี๋ยวเจ๊น้องท่าเรือจ้างที่ขายมาเกือบ ๕๐ ปี ทั้งก๋วยเตี๋ยวหมูแดง ก๋วยเตี๋ยวหมูเลียง ฯลฯ อาหารท้องถิ่นร่วมสมัย เช่น เมี่ยงญวน หรือบั่นหอย หลนปลาอินทรีย์ แกงเผ็ดลูกชิ้นปลาอินทรีย์ ไก่บ้านต้มระกำ ขนมโบ๋ และกล้วยสายเดี่ยว เพราะแม่ค้าใส่สายเดี่ยวย่างกล้วยห่ามพอดี ก่อนทุบ ราดด้วยน้ำจิ้ม (กะทิและน้ำตาลทราย)
ผลิตภัณฑ์
ทุเรียนช๊อต Magnet เสื่อกกจันทบูรผสมดิ้นเงินดิ้นทอง ชุดไพลินประกายพรึก อาลัวกุหลาบนมสด โปสการ์ด กระเป๋าสตางค์ น้ำพริกกุ้งแห้ง กล้วยเขย่า เทียนที่ระลึก
ข้อมูลติดต่อ
บ้านท่าเรือจ้าง หมู่ ๕ ตำบลจันทนิมิต อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี
คุณสมศักดิ์ พงษ์งาม โทร. ๐๙๗ ๑๙๔ ๘๑๗๕
26. บ้านบางกะจะ หมู่ ๑ ตำบลบางกะจะ อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี
“พระยาตากพักทัพ พระยอดธงวัดพลับเก่าแก่ แหล่งแร่อัญมณี”
ประวัติความเป็นมา
หมู่บ้านเก่าแก่ ชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีน ที่คงวิถีชีวิตดั้งเดิม มีประเพณีที่น่าสนใจ ทั้งเทศการกิจเจ เทศการทิ้งกระจาด การไหว้เจ้า เนื่องจากมีศาลเจ้าถึง ๓ ศาล รวมถึงประเพณีตักบาตรเข้าพรรษา และออกพรรษา ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนานกว่าร้อยปี ที่มีผู้คนจากทั่วทุกสารทิศ มาร่วมทำบุญกันเป็นจำนวนมาก
ชุมชนจีนตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลาง เป็นที่ตั้งทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสิน และเป็นแหล่งพลอยที่มีชื่อเสียงของโลก โดยเฉพาะบุษราคัม มีการสันนิษฐานว่าเมื่อเขาพลอยแหวนระเบิด ทำให้แร่รัตนชาติไหลเป็นสายลงมากระจายอยู่ทั่วหมู่บ้าน และริมคลองบางกะจะ จนคนเฒ่าคนแก่เล่าว่าเพียงขุดดินปลูกตะไคร้ก็เจอพลอยแล้ว
วัดพลับ
วัดที่ตั้งชื่อตาม “ต้นพลับ” ที่ออกผลสีเหลืองทอง มีสิ่งสำคัญ เช่น ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หอไตรกลางน้ำ เจดีย์กลางน้ำทรงระฆังคว่ำ วิหารไม้ทรงจัตุรมุข ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางทุกรกิริยา พระปรางค์ที่บรรจุพระยอดธง หรือพระยอดธงกู้ชาติ เรือยาวหม่อมหัวเขียว พระเมรุโบราณสำหรับเจ้านายในอดีต บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ผุดจากใต้ดิน ซึ่งนำมาเป็นน้ำพระพุทธมนต์ในพระราชพิธีราชาภิเษก
ตลาดทุบหม้อ
ตลาดนัดย้อนยุคที่มีบรรยากาศปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาต่อเนื่องถึงต้นกรุงธนบุรี เพื่อให้อิงกับประวัติศาสตร์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมาพักแรมที่นี่ ตั้งอยู่ในวัดพลับ โดยเปิดบริการเฉพาะวันเสาร์ –อาทิตย์ จึงเป็นศูนย์รวมผลิตภัณฑ์พื้นบ้านทั้งของกินของใช้ และของที่ระลึก
ถนนบางกะจะ
ถนนสายเล็กซึ่งในหลวงรัชกาลที่ ๕ เคยเสด็จประพาส เมื่อ ๕๐ ปีก่อน เป็นแหล่งค้าพลอยที่สำคัญ โดยชาวบ้านจะขุดพลอย ค้าพลอย เจียระไนพลอย จนกล่าวกันว่า “มีพลอยสวยเหมือนมีลูกสาวสวย” เพราะพ่อค้าแม่ค้ามารอซื้อพลอยถึงปากหลุมพลอยเลยทีเดียว ต่อมาได้จัดตั้ง “ศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี” ขึ้น เพื่อเป็นแหล่งซื้อขายพลอยระดับโลก
ร้านพลอยเจตนามณี
แม้ถนนบางกะจะลดบทบาทการเป็นแหล่งพลอยลง แต่ยังมีบ้านช่างฝีมือเจียระไนพลอยและร้าน “เจตนามณี” ที่ทำธุรกิจขายพลอยจนถึงออกแบบและจำหน่าย มีราคาหลักพันถึงหลักล้านโดยเฉพาะบุษราคัมที่มีชื่อเสียงที่สุด สตาร์บุษ (Golden star) และแบลคสตาร์ (Black star) ซึ่งเมื่อต้องแสงไฟจะปรากฎแฉก ๖ แฉก รวมทั้งเขียวส่องหรือมรกต
อาหารท้องถิ่น
“ก๋วยเตี๋ยวผัดยายลั้ง” ที่ตั้งชื่อตามผู้คิดสูตรจำหน่ายคนแรก คือ อาม่ากิมลั้ง แซ่เตียว ที่ขายมายาวนานกว่า ๘๐ ปี ปัจจุบันมีจำหน่ายกันอย่างแพร่หลายในชุมชน จึงใช้ชื่อว่า “ก๋วยเตี๋ยวผัดน้ำกุ้ง” แทน “ขนมครกน้องแดง” สูตรดั้งเดิมที่ใช้กะทิสด โรยใบกุ้ยช่าย ใช้ใบตองเป็นภาชนะ และเตาถ่านที่ช่วยให้ขนมมีกลิ่นหอม เปิดขายมาเกือบ ๒๐ ปีแล้ว รวมทั้งข้าวทะเลห่อใบบัว ติ๋งหนืด ขนมเบื้องญวน ฯลฯ
ผลิตภัณฑ์ชุมชน
ขนมจากทุเรียน ขนมฝอยมรกต ขนมทองหยิบ พรมเช็ดเท้า รองเท้าแตะผ้า แหวนเงิน กล้วยตาก บานาน่าชิพ น้ำสมุนไพร ขนมไข่
ข้อมูลติดต่อ
บ้านบางกะจะ หมู่ ๑ ตำบลบางกะจะ อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี
คุณเจตนา กีรติโภฌานันท์ โทร. ๐๙๒ ๗๐๕ ๓๓๔๔
27. บ้านหนองบัว หมู่ ๖ ตำบลหนองบัว อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี
“ชมวิถีริมคลอง ลิ้มลองอาหารถิ่น หอมกลิ่นน้ำอ้อยหวาน สืบสานฝีมือพลอย”
ชุมชนที่เงียบสงบริมคลองหนองบัว ซึ่งชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรมและประมงพื้นบ้านด้วย “หลักรอ” ที่คล้ายโพงพางเพื่อดักกุ้งหอยปูปลา ที่นี่ยังเป็นแหล่งกุ้งแห้งคุณภาพดีที่สุดและขายได้ราคาดีที่สุดในประเทศเฉลี่ยกิโลกรัมละ ๒,๐๐๐ บาท โดยแปรรูปจาก “กุ้งนา” ที่พบได้มากในชุมชนแห่งนี้
ตลาดเช้าหนองบัวหรือชุมชนขนมแปลก
ตลาดเช้าที่เต็มไปด้วยอาหารทะเลสดๆ เช่น ปลาควยถอก ปลาสัมหลัง ปลาแป๊ะ ปลากด ปลาจวด ปลากะปี๊ กุ้งขาว กุ้งนา ปูทะเล ปูไข่ ปูแป้น หรือปูใบไม้ โดยวิถีชีวิตชาวประมงจะออกเรือในช่วง “น้ำชอบ” หรือน้ำไหลเชี่ยว ตั้งแต่บ่ายสามโมงเป็นต้นไป และกลับในมาถึงตอนเช้ามืด ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตลาดเปิดทำการพอดีราวตี ๔ จนถึง ๘ โมงเช้า
ล่องเรือชมป่าชายเลน
สัมผัสความสงบเงียบและการเข้าถึงธรรมชาติขณะล่องเรือชมความงามของป่าชายเลนที่สมบูรณ์ด้วยต้นโกงกาง ต้นแสม ต้นฝาดแดงที่จะออกดอกช่วงตุลาคม ต้นลำพูที่มีหิ่งห้อยตอนกลางคืน ต้นสักน้ำเค็ม ฯลฯ ซึ่งช่วงน้ำลดชาวบ้านจะ “ล้วงปู” หลังจากนำลอบมาดักไว้พร้อมเหยื่อ เพื่อล่อให้ปูปลาเข้ามา นอกจากนี้ ในเวลาเย็นยังจะได้เห็นภาพฝูงเหยี่ยวบินจากป่าชายเลนกลับรัง
โรงหีบอ้อยหนองบัว
ชมกระบวนการผลิตน้ำตาลอ้อยแบบปลอดสารเคมีทุกขั้นตอน ตั้งแต่คั้นน้ำอ้อยโดยปล่อยให้ไหลไปตามราง กรอง ต้ม และเคี่ยว ๕ กะทะ จนข้นเหนียว แล้วปล่อยลงมาตามราง เพื่อคาดและพริกจนแห้ง จากนั้นใช้ไม้เหยียบทุบให้ละเอียด
ขนมบ่าว-สาว”
ขนมวัฒนธรรมที่ผูกพันกับพิธีแต่งงานของชาวจันทบุรี โดยเจ้าบ่าวจะชักชวนเพื่อนฝูงมามากวนขนม “บ่าว-สาว” เพื่อสื่อถึงความรักที่เหนียวแน่น โดยขนมบ่าวเป็นตัวแทนเจ้าบ่าวหรือข้าวเหนียวแดง ที่นำข้าวเหนียวเคี่ยวกับน้ำตาลและกะทิ ส่วนขนมสาวเป็นตัวแทนเจ้าสาวหรือกะละแม ที่นำแป้งมาเคี่ยวกับน้ำตาลและกะทิ ปัจจุบันหาเจ้าบ่าวทำตามธรรมเนียมดั้งเดิมได้ยาก จึงมีครัวเรือนที่ยังรับทำขนมชนิดนี้อีกทั้งทำขายในตลาดด้วย
อาหารท้องถิ่น
ลิ้มรส “กุ้งฮิ๊บ” หรือกุ้งเคี่ยวกับน้ำตาลปี๊บปรุงรสด้วยเกลือเล็กน้อย จนเปลือกกุ้งกรอบนุ่มเคี้ยวอร่อย และ “ปลาปี๊” ที่นำปลาสดมาทอดจนกรอบ ก่อนเจียวกระเทียมพริกไทย และนำมาคลุกรวมกันอีกที ทำให้ปลากรอบ และรับประทานได้ทั้งตัว
ผลิตภัณฑ์ชุมชน
มันทอดอบเนย มันรังนก ขนมกั้ง-ขนมกวน มะพร้าวแก้ว กุ้งแห้ง ขนมไข่มดสอดไส้ ขนมผิงโบราณ เสื้อสกรีน น้ำตาลอ้อย จี้พลอยไพลิน
ข้อมูลติดต่อ
บ้านหนองบัว หมู่ ๖ ตำบลหนองบัว อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี
คุณมณเฑียร ตรีผล โทร. ๐๘๖ ๑๑๐ ๕๕๑๐
23 พฤศจิกายน 2561