โรงงานผลิตวัคซีน GPO-MBP ชูศักยภาพด้วยโรงงานมาตรฐานระดับสากลแห่งแรกในไทย แสดงความพร้อมเป็นศูนย์กลางส่งออกวัคซีนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มั่นใจสร้างความมั่นคงของวัคซีนให้กับชาติ
เป็นที่น่าภาคภูมิใจของคนไทยที่ประเทศไทยมีโรงงานผลิตวัคซีนในระดับมาตรฐานโลก ซึ่งเป็นแหล่งผลิตวัคซีนขนาดใหญ่ ที่พร้อมปฏิบัติงานในการป้องกันโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนให้กับคนไทยมานานกว่า 2 ทศวรรษ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัท องค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด หรือ GPO-MBP ได้มีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมต่างๆ เพื่อก้าวสู่มาตรฐานระดับโลกโดยทีมผู้เชี่ยวชาญ เฉกเช่นเดียวกับนานาประเทศที่พัฒนาแล้ว
เภสัชกร บุญรักษ์ ถาวรรุ่งโรจน์
กรรมการผู้จัดการ บริษัท องค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด
เภสัชกร บุญรักษ์ ถาวรรุ่งโรจน์ กล่าวว่า “บริษัท องค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด เป็นโรงงานผลิตวัคซีนร่วมทุนขององค์การเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข บริษัท ทุนลดาวัลย์ จำกัด และบริษัท ซาโนฟี่ ปาสเตอร์ จำกัด โดยก่อตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปลายปี 2540 ด้วยทุนจดทะเบียนแรกเริ่ม 300 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการพัฒนาการผลิตวัคซีนที่ได้คุณภาพในระดับสากล เสริมสร้างความมั่นคงด้านวัคซีน และให้การสนับสนุนวัคซีนคุณภาพกับแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ โดยได้ดำเนินการก่อสร้างในปี 2543 ภายใต้การควบคุมโดยผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท ซาโนฟี่ ปาสเตอร์ ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งนับเป็นโรงงานผลิตวัคซีนระดับอุตสาหกรรมที่ทันสมัย ได้มาตรฐานดีเยี่ยมแห่งหนึ่งของเอเชีย รวมถึงเป็นศูนย์กลาง (Hub) ในการส่งออกวัคซีนในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีด้านวัคซีนระดับมาตรฐานโลกในการดูแลสุขภาพประชาชนทั่วประเทศและทั่วภูมิภาค นอกจากนี้ การออกแบบสถานที่ก็เป็นไปตามมาตรฐานหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตวัคซีนในระบบสากล บริษัทฯ ได้เริ่มการผลิตวัคซีนครั้งแรกในเดือนตุลาคม ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน บริษัทฯ ได้เพิ่มขีดความสามารถในการผลิตทั้งวัคซีนชนิดผงแห้งและชนิดเหลวถึง 20 ล้านขวดต่อปี”
บริษัทฯ ได้พัฒนากระบวนการผลิตและการควบคุมคุณภาพวัคซีนหลากหลายชนิด โดยรวมถึงวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ และวัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบเจอี โดยบริษัทฯ ได้ผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐานการผลิตยาที่ดีจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ปัจจุบันมีพนักงานผู้เชี่ยวชาญชาวไทยจำนวนกว่า 130 คน และตลอดกว่า 2 ทศวรรษ เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายต่างมุ่งมั่นตั้งใจและใส่ใจในรายละเอียดในทุกๆ ขั้นตอน เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่องตามมาตรฐานระดับสากล ตั้งแต่วัตถุดิบที่ใช้ ขั้นตอนการผลิต การควบคุมคุณภาพ ผู้จัดจำหน่าย งานด้านวิศวกรรมและการบริหารจัดการทั่วไปของโรงงาน รวมถึงได้มีการคิดค้น วิจัย และพัฒนานวัตกรรม ศึกษาเรียนรู้และรับการถ่ายทอดการใช้เทคโนโลยีต่างๆ มาโดยตลอดเพื่อช่วยยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยให้กับวัคซีน และให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีในสังคมไทย
พลโท สุชาติ วงษ์มาก
กรรมการ บริษัท องค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด
พลโท สุชาติ วงษ์มาก เปิดเผยว่า “องค์การอนามัยโลกระบุว่าวัคซีนเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันโรค ทั้งยามระบาดและยามปกติ ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องพึ่งพาตัวเองด้วยการผลตวัคซีนใช้เองในประเทศ และด้วยศักยภาพและผลงานความสำเร็จของ GPO-MBP ที่ผ่านมาถือเป็นเครื่องพิสูจน์ได้อย่างมั่นใจว่าประเทศชาติจะมีความมั่นคงทางวัคซีน ทั้งจากการผลิตวัคซีนเพื่อเด็กไทยและเอื้อประโยชน์ในต่างชาติ เช่น วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี ที่ผลิตขึ้นเองและยังสามารถส่งออกไปยัง 15 ประเทศ นำรายได้เข้าประเทศได้อย่างต่อเนื่อง บริษัทฯ มีเป้าหมายที่จะพัฒนาและผลิตวัคซีนเองภายในประเทศให้ครอบคลุมโรคต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพให้ได้มากที่สุด รวมถึงมีการวางกลยุทธ์ในการขยายการผลิตวัคซีน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศ และส่งเสริมการประกาศใช้พ.ร.บ. ความมั่นคงด้านวัคซีนจากรัฐบาล”
นายแพทย์ ดร. จรุง เมืองชนะ
ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ
นายแพทย์ ดร. จรุง กล่าวเสริมถึงการประกาศใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2561 และมีผลบังคับใช้วันที่ 22 พฤศจิกายน ที่ผ่านมานั้นว่า “เปรียบเสมือนตัวกำหนดให้มีกลไกที่เป็นระบบในการส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อให้มีการวิจัย การพัฒนา การผลิต การประกัน การควบคุมคุณภาพ การจัดหา การกระจายวัคซีน และการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคที่เหมาะสมและต่อเนื่องในระยะยาว เป็นการสร้างหลักประกันนโยบายแห่งรัฐเพื่อขับเคลื่อนภารกิจและยุทธศาสตร์วัคซีน และเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะผลักดันประเทศสู่ความมั่นคง สามารถพึ่งตนเองและการเป็นผู้นำด้านวัคซีนในระยะยาว ทำให้ประชาชนเข้าถึงการป้องกันโรคด้วยวัคซีนที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงเป็นธรรม ลดการสูญเสียเงินตราออกนอกประเทศ และทำรายได้เข้าประเทศโดยการส่งออกวัคซีน โดยที่ผ่านมา ยังขาดการรวมพลังระหว่างองค์กรที่มีศักยภาพในการพัฒนางานด้านวัคซีน และขาดความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ที่จะเข้ามามีส่วนช่วยผลักดันให้สอดประสานและมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน”
รองศาสตราจารย์ (พิเศษ) นายแพทย์ทวี โชติพิทยสุนนท์
นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยและที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
รองศาสตราจารย์ (พิเศษ) นายแพทย์ทวี โชติพิทยสุนนท์ กล่าวถึงคุณค่าของวัคซีนว่า “การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีน เป็นวิธีป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพสูง และมีความคุ้มค่ามากที่สุด ประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย ใช้การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคเป็นเครื่องมือป้องกันและควบคุมโรคติดต่อที่เป็นปัญหาสำคัญในระบบสาธารณสุข ซึ่งการคิดค้นพัฒนาและการผลิตวัคซีน ต้องอาศัยความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัย และต้องใช้ความสามารถในการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากเป็นกิจการที่ต้องลงทุนสูงแต่มีโอกาสทำกำไรไม่มาก ในระยะต้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการสนับสนุนส่งเสริมด้านเงินทุนจากภาครัฐ โดยไม่มุ่งเน้นผลตอบแทนเพื่อคืนทุนในระยะสั้น แต่เป็นการลงทุนเพื่อการสร้างศักยภาพและความมั่นคงของประเทศในระยะยาว และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน”
ปัจจุบันประเทศไทยประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจกับการป้องกันโรคด้วยวัคซีน เมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเดียวกัน โดยภาครัฐได้ให้บริการวัคซีนพื้นฐาน ครอบคลุมกว่าร้อยละ 90 ของประชากร และประชาชนอีกส่วนหนึ่งได้รับวัคซีนจากสถานบริการในภาคเอกชน โดยในแต่ละปี ภาครัฐและเอกชนใช้วัคซีนคิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 1,000 ล้านบาท ถึงแม้จะสามารถผลิตวัคซีนป้องกันโรคบางชนิดขึ้นได้เองภายในประเทศ แต่วัคซีนส่วนใหญ่มีราคาสูง และมีแนวโน้มการใช้มากขึ้น ซึ่งยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และยังเป็นภาระงบประมาณของประเทศซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้น หากประเทศไทยมีการบริหารจัดการให้มีการเชื่อมโยงข้อมูล ความรู้ความชำนาญเข้าด้วยกัน จะทำให้เกิดศักยภาพในด้านการพัฒนาวัคซีนที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการเป็นผู้นำในภูมิภาคด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพตามแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลได้ ซึ่งปัจจุบันการวิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยในหลายๆ ด้าน มีความก้าวหน้ามาก ประกอบกับประเทศไทยเคยได้ลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาวัคซีนไว้หลายประการ เช่น การสร้างทรัพยากรบุคคล การสนับสนุนกลุ่มงานวิจัยวัคซีนต่างๆ ซึ่งยังกระจายตัวอยู่ในหน่วยงานภาครัฐและมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นต้น
14 ธันวาคม 2561