สจล. ผนึก ญี่ปุ่น ตั้งสถาบัน KOSEN-Kmitl สถาบันชำนาญพิเศษเฉพาะด้านวิศวกรรมศาสตร์ พร้อมนำร่องเปิดหลักสูตร วิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ ปั้นวิศวกรหุ่นยนต์แถวหน้าของโลก
สถาบันไทยโคเซ็น (Thai KOSEN) วิทยาเขตสจล.(KOSEN kmitl) เป็นวิทยาเขตที่จัดตั้งนอกประเทศญี่ปุ่นและครั้งแรกของประเทศไทย จากโครงการพัฒนากำลังคนด้านวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสอดรับกับนโยบายประเทศไทย 4.0(Thailand4.0) จากการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย - ญี่ปุ่น ครั้งที่ 4 ได้เกิดการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการประเทศไทย และกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 22สิงหาคม 2561
วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสถาบันไทยโคเซ็น วิทยาเขตสจล.
เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีที่มีทักษะความเชี่ยวชาญสูงในการสร้างและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ของประเทศ
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดตัวสถาบันโคเซ็น-เคเอ็มไอทีแอล (KOSEN-Kmitl) ครั้งแรกในประเทศไทย จากความร่วมมือ ไทย-ญี่ปุ่น เพื่อ ผลิตวิศวกรชั้นแนวหน้าของโลก โดยสถาบันดังกล่าวเป็นสถาบันเชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะด้านวิศวกรรมศาสตร์ เปิดสอนนักเรียนที่มีความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ซึ่งในปี 2562 นำร่องเปิดหลักสูตรแรก สาขาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ หรือการเรียนด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ หลักสูตร 5 ปี โดยผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับประกาศนียบัตรควบอนุปริญญาวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเนื้อหาอขงหลักสูตรจะยึดตามแนวทางของระบบโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น 100% ทั้งนี้สถาบันฯ กำหนด เปิดรับนักศึกษารุ่นแรกปีการศึกษา 2562 จำนวน 24 คน เปิดรับสมัครนักเรียนที่จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยคาดว่าจะเปิดรับสมัครช่วงเดือนมกราคม 2562 โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับทุนการศึกษาเต็มจำนวนจากรัฐบาล
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ เปิดเผยว่า จากยุทธศาสตร์ไทยแลนด์พลัสวัน (Thailand Plus One) ของประเทศญี่ปุ่นที่ต้องการยกไทยเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนสำคัญ ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องเร่งสร้างวิศวกรนักปฏิบัติเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับญี่ปุ่น อันจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศสอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาวของประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จึงได้เกิดความร่วมมือระดับรัฐบาล ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการของไทย และกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของญี่ปุ่น ให้มีการจัดตั้งสถาบันโคเซ็น-เคเอ็มไอทีแอลสถาบันเชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะด้านวิศวกรรมศาสตร์ ที่จะผลิตบุคลากรที่มีความชำนาญเฉพาะสาขา โดยสถาบันนี้จะเป็นสาขาที่ 52 ของสถาบันและเป็นสถาบันโคเซ็นแห่งแรกที่จัดตั้งนอกประเทศญี่ปุ่น เพื่อทางเลือกใหม่ของนักเรียนที่มีความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่สนใจอยากเรียนต่อด้านวิศวกรรมศาสตร์ ตอบโจทย์ภาคการผลิตไทยและขับเคลื่อนการสร้างสรรค์นวัตกรรม ผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่อนาคต ตอบสนองแผนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศที่มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมขึ้นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ในฐานะประธานคณะกรรมการโครงการจัดตั้งสถาบันไทยโคเซ็น
รองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน มาลีสี คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวเสริมว่า สถาบันโคเซ็น-เคเอ็มไอทีแอลเป็นสถาบันแรกของประเทศไทยที่ได้รับออกแบบหลักสูตรด้านวิศวกรรรมศาสตร์ที่เข้มข้นทั้งภาควิชาการและภาคปฏิบัติกับประเทศญี่ปุ่น นำร่องทำการเรียนการสอนในสาขาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ (Mechatronics Engineering) หรือการเรียนด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์อันเป็นการบูรณาการศาสตร์ทางด้านวิศวกรรมในหลากหลายแขนง ความพิเศษของสถาบันโคเซ็น-เคเอ็มไอทีแอล คือการเป็นสถาบันเชี่ยวชาญพิเศษด้านวิศวกรรมศาสตร์ เทียบเท่ามัธยมศึกษาตอนปลาย โดยตลอดหลักสูตร 5 ปี ผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับประกาศนียบัตรจากสถาบันโคเซ็น ควบอนุปริญญาวิศวกรรมศาสตร์จาก สจล. โดยการเรียนการสอน ในช่วงปี 1-2 จะทำการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ และปีที่ 3-5 เป็นภาษาญี่ปุ่น ในช่วงก่อนสำเร็จการศึกษานักศึกษาจะได้เดินทางไปฝึกงานที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเนื้อหาของหลักสูตรจะยึดตามแนวทางของระบบโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น 100% นอกจากนี้หลังจากสำเร็จการศึกษาสามารถเลือกศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีอีก 2 ปีในสถาบันชั้นนำทั้งไทยและต่างประเทศ
ดร.อิซาโอะ ทานิกุชิ (Dr.Isao Taniguchi)
ประธานสถาบันเทคโนโลยีแห่งชาติ (NIT)
รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน
อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์
ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการโครงการจัดตั้งสถาบันไทยโคเซ็น
หลักสูตรนี้เป็นการฝึกให้นักศึกษาเป็นนักวิจัยที่มีความสามารถ ตรงตามความต้องการบริษัทอุตสาหกรรมชั้นนำ ในญี่ปุ่นเองนักศึกษาที่จบจากหลักสูตรโคเซ็นได้รับการยอมรับว่ามีความรู้ความสามารถที่โดดเด่นทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ อันเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน โดยมีพารทเนอร์จากภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่จะมาร่วมเป็นเทรนเนอร์ให้กับนักศึกษาสำหรับการปฏิบัติงานจริง ทั้งนี้ในปี 2562 จะเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกจำนวนเพียง 24 คน โดยคาดว่าจะเปิดรับสมัครช่วงเดือนมกราคม 2562 ซึ่งจะแจ้งรายละเอียดการรับสมัครอย่างเป็นทางการให้ทราบในภายหลัง สำหรับผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับทุนการศึกษาเต็มจำนวนจากรัฐบาล รศ.ดร.คมสัน กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังได้ร่วมสถาบันเทคโนโลยีแห่งชาติญี่ปุ่น จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือจัดตั้งสถาบันไทยโคเซ็น และสถาบันโคเซ็น-เคเอ็มไอทีแอล ขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ โดยได้รับเกียรติจาก นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการและประธานคณะกรรมการโครงการจัดตั้งสถาบันไทยโคเซ็น เป็นประธานในพิธี ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. engineer.kmitl.ac.th หรือติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมที่ www.facebook.com/kmitlnews/
14 ธันวาคม 2561