เที่ยวไทดำ บ้านวังน้ำ "ดีแต้..เล้"
ดีแต้..เล้...แปลว่า “ดีที่สุด” ในภาษาไทดำ “บ้านวังน้ำ”
หมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ของชาวไทดำ อยู่ที่ บ้านวังน้ำ ต.วังยาง อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร
ในประเทศไทยของเราแต่ละจังหวัดจะมีชนเผ่าจากหลากหลายชาติพันธุ์รวมตัวกันเข้ามาอาศัย แต่ละชุมชนก็จะมีอัตลักษณ์และความโดดเด่นแตกต่างกันออกไป
สำหรับที่นี่บ้านวังน้ำ อำเภอขลุง จ.กำแพงเพชร เมื่อประมาณปี 2492 ชาวไทดำได้อพยพมาสร้างบ้านเรือนที่บ้านวังน้ำ โดยยังคงมีวิถีชีวิตที่เป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างเคร่งครัด เช่น การไหว่้ผีบรรพบุรุษ ผีเรือน การแต่งกาย พิธีเสนเรือน พิธีปาดตง การเล่นคอนฟ้อนแคน
วันนี้เรามาสัมผัสวิถีวัฒนธรรมไทดำ อาหาร ที่อยู่อาศัย ประเพณี ภาษา อาชีพ ความเชื่อ การละเล่น การแต่งกาย ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและเกษตรปลอดภัย มีบ้านพักแบบโฮมสเตย์ มีอยู่หลายหลัง สามารถมาพักผ่อนเรียนรู้วิถีไทยทรงดำได้ง่ายๆ ในราคา คนละ 300 บาทรวมอาหาร โฮมสเตย์ไทยทรงดำ บ้านวังน้ำ จ.กำแพงเพชร โทร. 082 405 7859
“ไทดำ" หรือไทยทรงดำที่เรามักเข้าใจผิดเรียกว่า"ลาวโซ่ง" แต่ความจริงเป็นชาติพันธุ์ "ไตดำ"หรือ "ไทดำ" ส่วนสีผิวออกไปในทางขาวเหลืองไม่ได้ดำตามชื่อชาติพันธุ์
การแต่งกายของผู้หญิงในภาพขวาทำทรงผมปั้นเกล้ายกสูง เสียบเกล้าผมด้วยปิ่นปักผมเงินรูปตัว U ปลายแหลม สวมเสื้อก้อมทอจากฝ้ายเป็นเสื้อไม่มีคอกลมแขนทรงกระบอก ติดกระดุมเงินทรงดอกผักบุ้งถี่หลายเม็ด ส่วนผ้าซิ่นเป็นลายแตงโมยอดนิยมของไทยทรงดำ เสื้อผ้าส่วนใหญ่สีกรมท่าเข้มจัดจนถึงสีดำย้อมด้วยสีจากต้นฮ้อมและนิล
ไทยทรงดำมีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่สิบสองจุไทเดิม หรือบริเวณลุ่มแม่น้ำดำและแม่น้ำแดงในเวียดนามตอนเหนือ โดยเฉพาะเมืองแถง หรือเมืองแถน ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ดั้งเดิมของชาวไทดำและชาวไทขาว ปัจจุบันสิบสองจุไทคือจังหวัดเดียนเบียนฟูของเวียดนาม มีเขตติดต่อแขวงพงสาลี ประเทศลาว
ถูกกวาดต้อนเข้ามาพร้อมคนลาวจากเวียงจันทน์ครั้งแรกสมัยพระเจ้าตากสิน ครั้งที่สอง สมัยรัชกาลที่ 1 ครั้งที่สามสมัยรัชกาลที่ 3 อพยพ 4 ครั้งตั้งแต่เกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์ ครั้งที่สี่สมัยรัชกาลที่ 5 ช่วงเหตุการณ์กบฎฮ่อ บ้านเรือนไทยดำถูกฮ่อเผา จึงอพยพแบบเทครัวมาตั้งรกรากในจังหวัดเพชรบุรี ปัจจุบันไทยทรงดำกระจายอยู่หลายจังหวัด เพชรบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรสาคร กาญจนบุรี ราชบุรี อุทัยธานี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย เลย เป็นต้น
เรื่อง/ภาพ : เจริญ ภัทรพิทักษ์
28 กุมภาพันธ์ 2562