สวทช. โชว์ผลงานวิจัยตอบโจทย์เศรษฐกิจแนวใหม่ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จัดเต็มในงานประชุมประจำปีครั้งใหญ่ “NAC2019”
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดงานประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2562 หรือ NAC2019 อย่างยิ่งใหญ่ โชว์ศักยภาพผลงานวิจัยและพัฒนาของ สวทช. และเครือข่ายพันธมิตร ภายใต้แนวคิด “ตอบโจทย์เศรษฐกิจแห่งอนาคตไทย ก้าวไกลด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม” ชูผลงานวิจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
4 มีนาคม 2562 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี: ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วย ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. ในฐานะประธานจัดงานฯ ร่วมแถลงข่าวการจัดงานประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2562 (NSTDA Annual Conference: NAC2019) ที่จะจัดขึ้นวันที่ 25 - 28 มีนาคม 2562 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล
ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล กล่าวว่า สวทช. หน่วยงานวิจัยและพัฒนาของประเทศ ผ่านการทำงานของ 4 ศูนย์เทคโนโลยีแห่งชาติ และสนับสนุนให้มีการนำผลงานวิจัยไปใช้ภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs สตาร์ทอัพ เกษตรกร และอุตสาหกรรม เพื่อสร้างขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางสู่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งการงานประชุมวิชาการ NAC2019 ในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจแห่งอนาคตไทย ก้าวไกลด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม” เพื่อตอบโจทย์ประเทศในการนำ วทน. มาใช้ในทุกภาคส่วน เพื่อสนองตอบยุทธศาสตร์ของประเทศที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้าน วทน. เน้นการวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจแนวใหม่ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ พร้อมทั้งยกระดับศักยภาพของประเทศสร้างความมั่นคง ยั่งยืน
จากยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนวิจัยและนวัตกรรมตามแนวทางเศรษฐกิจแนวใหม่ เพื่อตอบโจทย์ประเทศโดยมีเป้าหมายยกระดับศักยภาพของประเทศไปสู่ประเทศที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยมุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจแนวใหม่ ได้แก่ 1) เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) มุ่งเน้นใช้ความรู้ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ และต้นทุนความหลากหลายทางชีวภาพที่เป็นจุดแข็งของประเทศเป็นตัวขับเคลื่อน 2) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มุ่งเน้นใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือทิ้งมาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง 3) เศรษฐกิจ สีเขียว (Green Economy) มุ่งเน้นประหยัดพลังงาน ลดความเสี่ยงที่จะทำให้สิ่งแวดล้อมเสียหาย ตอบสนองการพัฒนาที่ยั่งยืน 4) เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Intelligent Economy) เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิต เพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าและบริการ โดยใช้เวลาน้อยลง 5) เศรษฐกิจร่วมใช้ประโยชน์ (Sharing Economy)
เป็นรูปแบบเศรษฐกิจที่ใช้พื้นฐานแนวคิดความร่วมมือและแบ่งปัน ทำให้เกิดรูปแบบสินค้าและบริการใหม่ สร้างรายได้แบบ
พึ่งพากัน และ 6) เศรษฐกิจผู้สูงวัย (Silver Economy) เป็นระบบที่นำความรู้เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่รองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุพึ่งพาตนเองได้
“สวทช. ได้ปรับกลยุทธ์ตามนโยบายประเทศมุ่งเน้นงานวิจัยใน 10 กลุ่มเทคโนโลยีเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจแบบจับต้องได้และเพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ ประกอบด้วย 1) สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ หรือ Biochemicals ต่างๆ เช่น สารประกอบที่สำคัญในอุตสาหกรรม 2) สารสกัดที่จะนำมาใช้ทำเครื่องสำอาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารในกลุ่มสมุนไพร 3) ยาแบบใหม่ที่ใช้กระบวนการสังเคราะห์ทางชีวภาพ 4) การทำวิจัยการแพทย์แบบแม่นยำ (Precision Medicine) ที่จะนำไปสู่การตั้งคลังข้อมูลพันธุกรรม การใช้เทคโนโลยีนาโนในการตรวจและรักษา รวมไปถึงการรักษาโรคแบบจำเพาะบุคคล 5) Medical devices & implants งานวิจัยที่เกี่ยวกับระบบดิจิทัลที่ใช้กับอุปกรณ์ช่วยการผ่าตัด หรือชิ้นส่วนทดแทนอวัยวะต่างๆ 6) Food & feed เป็นกลุ่มที่ศึกษา Functional ingredients ในอาหารคน อาหารสัตว์ และอาหารเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย เช่น อาหารสำหรับผู้สูงอายุ ผู้ป่วย รวมไปถึง Smart packaging แบบต่างๆ ที่จะทำให้อาหารสดอยู่ได้นาน เป็นต้น 7) เกษตรแม่นยำ (Precision agriculture) 8) Mobility & Logistics การศึกษาระบบโครงสร้าง การขับเคลื่อนมอเตอร์ การชาร์จไฟ ระบบควบคุมและให้สัญญาณ รวมถึงต้นแบบชิ้นส่วนรถไฟฟ้ารางเบา 9) พลังงานทั้งการพัฒนาแบตเตอรีแบบแพ็กที่ใช้กับรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงวัสดุกับระบบพลังงานทางเลือกแบบต่างๆ เช่น ไบโอดีเซล เป็นต้น และ 10) Dual-use defense เช่น การพัฒนาเครื่องแจมมอร์สำหรับโดรน และเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดหรือสารเสพติดต่างๆ เป็นต้น” ซึ่งการจัดงาน NAC2019 นี้จะมีการประชุม/สัมมนาเจาะลึกในประเด็นต่างๆ นิทรรศการการแสดงผลงานวิจัยทั้งจาก สวทช. และเครือข่ายพันธมิตร NSTDA Open House การเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิจัยและหน่วยงานทดสอบมาตรฐานต่างๆ ของ สวทช. สัมผัสงานวิจัย และสร้างเสริมกระบวนการคิดด้าน วทน. เพื่อก้าวสู่เศรษฐกิจแนวใหม่ สร้างขีดความสามารถด้าน วทน. ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศต่อไป
ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง
ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช.
ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ในฐานะประธานจัดงาน NAC2019 กล่าวว่า งานประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2562 (NAC2019) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 28 มีนาคม 2562 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี โดย สวทช. ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดการประชุมฯ และนิทรรศการในวันที่ 25 มีนาคม 2562 เวลา 09.00-12.00 น. ภายในงานจะมีการสัมมนาที่น่าสนใจจากผู้ทรงคุณวุฒิและอบรมเชิงปฏิบัติการมากกว่า 50 เรื่อง โดยมีทั้งเรื่องราวความรู้ของเศรษฐกิจแนวใหม่ที่ สวทช. ดำเนินการเพื่อตอบโจทย์ของประเทศ อาทิ แนวโน้ม โอกาสและความท้าทายของการวิจัยพัฒนาชั้นแนวหน้า (Frontier Research) เพื่อผสมผสานการวิจัยพื้นฐานร่วมกับการวิจัยประยุกต์ เพื่อสร้างแนวคิดและองค์ความรู้ที่มีศักยภาพไปสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน Smart Farm นำผลงานวิจัยที่นำไปใช้จริงในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งจะได้เรียนรู้ประสบการณ์จากเกษตรกรตัวจริงเสียงจริงที่ได้ใช้งาน สูตรตำรับอาหารสัตว์เพื่อนวัตกรรมด้วยเทคโนโลยีนาโน เช่น การปรับปรุงคุณภาพอาหารสัตว์โดยใช้กระบวนการผลิตในระดับนาโนเมตร เพื่อเพิ่มสารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ “นวัตกรรมจากไข่เพื่อการมีสุขภาพที่ดี” เน้นการนำเอา
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการเพิ่มมูลค่าการใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ไข่ “ระบบไซเบอร์กายภาพ กุญแจสู่ Smart Factory” เทคโนโลยีที่จะสื่อสารและทำงานร่วมกันทำให้สามารถตัดสินใจแก้ปัญหาอัตโนมัติ สานพลังเทคโนโลยี
ยางพารา สร้างอุตสาหกรรม สร้างชุมชน พร้อมเครือข่ายระดับชุมชน สหกรณ์ และอุตสาหกรรม การขอรับรองมาตรฐาน สมอ. การส่งเสริมและผลักดันผลิตภัณฑ์จากผลงานนวัตกรรม สะเต็มศึกษาและวิทยาการคำนวณ : องค์ความรู้และการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์เชิงรุก เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยจาก สวทช. และเครือข่ายพันธมิตร ซึ่งในวันนี้มีตัวอย่างผลงานวิจัยที่นำมาแสดง ได้แก่ นวัตกรรมน้ำยาง ParaFIT: น้ำยางพาราข้นชนิดใหม่สำหรับการผลิตหมอนและที่นอนยางพารา โดยเอ็มเทค สวทช. ได้คิดค้นนวัตกรรมน้ำยาง ParaFIT (พาราฟิต) เป็นวัตถุดิบในผลิตหมอนและที่นอนยางพาราที่มีคุณภาพดีเพื่อทดแทนการใช้น้ำยางพาราข้นที่ใช้ในปัจจุบันที่มีส่วนผสมของแอมโมเนียเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำยางบูดเน่า และช่วยลดเวลาในการบ่มน้ำยางก่อนนำไปใช้งานเหลือเพียง 3 วัน (จากเดิมต้องใช้เวลาบ่มนาน 21 วัน) จึงช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ผลิตหมอนและที่นอนยางพารา อีกทั้งยังเป็นมิตรกับคนทำงาน สิ่งแวดล้อม และชุมชน อาหารปั่นผสมสำเร็จรูปสำหรับผู้ที่ต้องได้รับอาหารทางสายยาง โดย ไบโอเทค และ เอ็มเทค สวทช. ได้ร่วมมือกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโรงพยาบาลนครนายกพัฒนาสูตรและกระบวนการผลิตอาหารปั่นผสมสำเร็จรูปที่มีการควบคุมปริมาณสารอาหาร สะอาด เก็บไว้ได้ที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน สามารถไหลผ่านสายยางได้ และคุณภาพเป็นที่ยอมรับจากผู้ใช้งาน เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับพลังงานและสารอาหารที่เพียงพอ ช่วยลดขั้นตอนและระยะเวลาในการเตรียมอาหารปั่นผสม ซึ่งอาจเกิดการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ได้และผู้ดูแลใช้งานได้สะดวกและเก็บไว้ได้นาน เวย์โปรตีนพร้อมดื่ม เก็บได้นาน มีโปรตีนสูง ในปัจจุบันเวย์โปรตีนที่มีจำหน่าย มีหลากหลายรูปแบบ เช่น รูปแบบผงพร้อมชง จึงมีการพัฒนาเครื่องดื่มเวย์โปรตีนบรรจุขวดพร้อมดื่ม แต่ผลิตภัณฑ์ที่วางขายในปัจจุบันมีอายุการเก็บรักษาที่สั้นและต้องเก็บรักษาในตู้เย็น จึงเป็นที่มาขอความร่วมมือระหว่างไบโอเทค สวทช. และบริษัท ตะวันบอตต์แอนด์แคน จำกัด ในการพัฒนาเครื่องดื่มเวย์โปรตีนสูงที่สามารถทนความร้อนโดยที่ไม่จับตัวเป็นก้อน สามารถเก็บรักษาได้นานถึง 6 เดือน โดยไม่จำต้องแช่เย็น อีกทั้งยังมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง ด้วยการใช้เครื่องรีทอร์ท นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นยังมีโปรตีนสูงถึง 28 – 30 กรัม ต่อ 350 มิลลิลิตร
และยังได้มีการพัฒนารสชาติของเครื่องดื่มควบคู่กับการพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ ทำให้ได้เวย์โปรตีนที่มีคุณสมบัติเฉพาะและยังมีรสชาติที่อร่อยอีกด้วย ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (National Biobank of Thailand) เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ด้วยการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพที่ได้ชื่อว่าไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากแห่งหนึ่งของโลก ก่อให้เกิดการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ด้านการเกษตรและอาหาร ด้านชุมชนและสิ่งแวดล้อม และด้านส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิต Kidbright chem kid: เครื่องอ่านสีสารละลายเพื่อการศึกษาทางด้านเคมี โดย เนคเทค สวทช. เครื่องอ่านสีตามความเข้มข้นของสารเคมีในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีเชิงแสงร่วมกับการเขียน Coding ผ่าน KidBright IDE ซึ่งจะอ่านค่าสีของน้ำที่เกิดจากปฏิกิริยาเคมีของชุดทดสอบกับสารเคมีในน้ำจากบ่อเพาะเลี้ยง ซึ่งเครื่องนี้จะช่วยแก้ปัญหาความผิดพลาดจากการอ่านค่าสีของสารเคมีในน้ำด้วยตาเปล่าที่พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเกษตรกรกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ผู้ผลิตหรือจำหน่ายชุดทดสอบคุณภาพน้ำ หน่วยงานบริการและตรวจสอบคุณภาพน้ำ ผู้ผลิตสื่อการ
ศึกษา และผู้ประกอบการเทคโนโลยีที่สนใจ ไฮโดรเจลกักเก็บโปรตีนสำหรับอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์น้ำ โดย นาโนเทค สวทช. ได้พัฒนาสูตรอาหารเลี้ยงลูกกุ้งแบบไร้ปลาป่น โดยใช้เทคโนโลยีการกักเก็บสารสำคัญในโครงสร้างแบบเจล มาช่วยเพิ่มความสามารถในการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและยืดอายุให้ไม่เน่าเสียเร็ว เพื่อลดปัญหาของการให้อาหารในสัตว์น้ำ เนื่องจากปัจจุบันปัญหาที่พบคือ สัตว์น้ำในวัยอนุบาลต้องการสารอาหารที่ย่อยง่าย ดูดซึมได้อย่างรวดเร็ว แต่สารสำคัญหลายชนิดมีความไม่คงตัว มักจะละลายไปกับน้ำเมื่อให้อาหาร นาโนวัคซีนดูดซึมทางเหงือกต้านโรคในปลา นาโนเทค สวทช. ร่วมกับคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนานวัตกรรมนาโนวัคซีนที่มีคุณสมบัติเกาะติดเยื่อเมือกแบบแช่เพื่อใช้ทดแทนการฉีด สำหรับการควบคุมโรคติดเชื้อในปลานิล จากการออกแบบและสังเคราะห์วัคซีนเชื้อตายจากเชื้อฟลาโวแบคทีเรียม (Flavobacterium columnare) ที่ก่อให้เกิดโรคในปลานิล ในรูปของอนุภาคนาโนที่มีคุณสมบัติในการเกาะติดเยื่อเมือก เพื่อแก้ปัญหาในภาคอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงปลานิลที่ประสบปัญหาโรคระบาดจากเชื้อดังกล่าว ซึ่งการให้วัคซีนในปลาเป็นอีกวิธีหนึ่งเพื่อวางแผนป้องกันไม่ให้ปลาเกิดโรคและมีความจำเป็นอย่างมากในอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในปัจจุบัน สารเคลือบนาโนป้องกันตะกรันบนแผงรังผึ้ง โดย นาโนเทค สวทช. และบริษัท ฮิวเทค (เอเซีย) จำกัด ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) ได้พัฒนาสารเคลือบนาโนเพื่อลดการเกาะของตระกรันแคลเซียมบนแผงรังผึ้งที่ไม่เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่ดูดซับความชื้นในระบบปรับอากาศแบบประหยัดพลังงานไฟฟ้าด้วยพัดลมไอเย็น
และจากการทำงานของระบบแผงรังผึ้ง จำเป็นต้องใช้น้ำเป็นตัวหลักที่ทำให้แผงรังผึ้งมีความชื้น แต่เนื่องจากน้ำที่นำมาใช้งานส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมและปศุสัตว์นำมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น น้ำผิวดินและน้ำบาดาล มีแร่ธาตุอยู่มาก และไม่สามารถควบคุมคุณภาพน้ำได้ ดังนั้นจึงส่งผลให้เมื่อใช้แผงรังผึ้งในระยะเวลานานจะทำให้เกิดคราบขาวหรือตะกรันขึ้นบนแผงรังผึ้งได้ โดยตะกรันดังกล่าวเกิดจากสารประกอบกลุ่มเกลือแคลเซียมและแมกนีเซียมที่ละลายอยู่ในน้ำ เกิดการรวมตัวกันและตกผลึกเป็นตะกรันเกาะตามพื้นผิวถ่ายเทความร้อนบนแผงรังผึ้ง เกิดเป็นปัญหาการระบายความร้อน ส่งผลให้ประสิทธิภาพของระบบด้อยลงและสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้ามากกว่าปกติ รวมถึงเป็นการลดอายุการใช้งานของแผงรังผึ้งอีกด้วย และเพอร์ริคอล นวัตกรรมทดแทนยาปฏิชีวนะที่ใช้ผสมในอาหารสัตว์ (หมู/ไก่) ผลงานวิจัยของบริษัท เวทโปรดักส์ รีเซิร์ช แอนด์ อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นภาคเอกชนที่จัดตั้งอยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย โดย เพอร์ริคอล เป็นผลิตภัณฑ์ที่ลดการใช้ยาปฏิชีวนะในอาหารสัตว์ที่นำมาสู่ปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาที่เป็นปัญหาทั้งในคนและสัตว์ มีส่วนประกอบจากธรรมชาติที่ช่วยรักษาและลดความเสียหายจากปัญหาท้องเสียที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียในสุกร นอกจากนี้ยังช่วยฟื้นฟูเซลล์ลำไส้ และการอักเสบของทางเดินอาหาร ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของสุกรและไก่
อีกกิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจและขาดไม่ได้คือ เปิดบ้าน สวทช. (NSTDA Openhouse) การเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิจัยและหน่วยงานทดสอบมาตรฐานต่างๆ ของ สวทช. จะได้พบกับอุปกรณ์และเครื่องมือในการวิจัยที่ทันสมัยระดับโลก โดย สวทช. และประชาคมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ร่วมเปิดบ้านต้อนรับนักธุรกิจ นักอุตสาหกรรม และนักลงทุนที่สนใจ ได้เยี่ยมชมเทคโนโลยีจากศักยภาพของบุคลากรวิจัยและห้องปฏิบัติการ สวทช. ตลอดจนนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ธุรกิจจากบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ พร้อมคำแนะนำบริการและมาตรการสนับสนุนภาคเอกชนของ สวทช. ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพและสร้างกำไรให้กับธุรกิจได้โดยไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนร่วมงานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ที่ www.nstda.or.th/nac หรือ โทร. 0 2564 8000
4 มีนาคม 2562