กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) จัดงาน “NAC2019” ประชุมวิชาการประจำปีครั้งยิ่งใหญ่ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจแนวใหม่ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
(25 มีนาคม 2562) ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย: สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2562 (NSTDA Annual Conference: NAC2019) ภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจแห่งอนาคตไทย ก้าวไกลด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (Moving Towards Thailand’s Future Economy with Science, Technology and Innovation)” ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 15 ระหว่างวันที่ 25 - 28 มีนาคม 2562 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี
โดยภายในงานมีการแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยของ สวทช. และเครือข่ายพันธมิตร การเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิจัยและทดสอบ กิจกรรมวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชน และการสัมมนาที่น่าสนใจจากผู้ทรงคุณวุฒิและอบรมเชิงปฏิบัติการ มุ่งเน้นนำเสนอความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ เพื่อสนองตอบยุทธศาสตร์ของประเทศที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้าน วทน. การวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจแนวใหม่ นำมาพัฒนาขีดความสามารถด้าน วทน. ของประเทศ พร้อมทั้งยกระดับศักยภาพ และสร้างความมั่นคง ยั่งยืนต่อไป
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กราบบังคมทูลรายงานตอนหนึ่งว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หน่วยงานในกำกับของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีเป้าหมายในการวิจัยและพัฒนาด้าน วทน. และพัฒนากลไกการส่งมอบ เพื่อผลักดันงานวิจัยและพัฒนาไปสู่การใช้ประโยชน์ทั้งเชิงพาณิชย์และสาธารณประโยชน์ ตอบโจทย์ประเทศไทย 4.0 มาอย่างต่อเนื่อง
โดยในปีที่ผ่านมา สวทช. ดำเนินงานร่วมกับพันธมิตรภาครัฐ การศึกษา และเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ ส่งมอบผลงานวิจัยที่เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ และสังคมใน 5 ประเด็นมุ่งเน้น ได้แก่ 1. สารให้ประโยชน์เชิงหน้าที่และนวัตกรรมอาหาร 2. ระบบขนส่งสมัยใหม่ 3. การสร้างเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนไทย 4. เคมีชีวภาพและเชื้อเพลิงชีวภาพ และ 5. นวัตกรรมเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน ผลงานวิจัยที่นำไปใช้ประโยชน์ได้สร้างมูลค่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเป็นเงินมากกว่า 45,000 ล้านบาท หรือประมาณ 7 เท่าของค่าใช้จ่ายของ สวทช. ได้ผลงานที่เป็นองค์ความรู้ ได้แก่ สิ่งตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ 546 เรื่อง ทรัพย์สินทางปัญญาที่ขอจด 383 คำขอ และมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคการผลิตและบริการ 261 รายการ หน่วยงานรับมอบ 335 หน่วยงาน นอกจากนั้น สวทช. ได้สร้างเสริมขีดความสามารถเกษตรชุมชน โดยถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เกษตรกร 6,700 คน จาก 264 ชุมชน ใน 35 จังหวัด ครอบคลุมเทคโนโลยีหลัก 36 เรื่อง เช่น การแปรรูปมันสำปะหลัง ข้าว เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง การใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ และการใช้สารชีวภัณฑ์เพื่อลดการใช้สารเคมี เป็นต้น รวมทั้งพัฒนาบุคลากรเข้าสู่อาชีพวิจัย ในรูปแบบการให้ทุนการศึกษาและการพัฒนาระบบนักวิจัยพี่เลี้ยง โดยมีนักวิจัย สวทช. เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วม ในการทำโครงงานวิจัยตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาถึงบัณฑิตศึกษาในประเทศ จำนวน 790 ทุน นอกจากนี้ สวทช.ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดำเนินการบริหารจัดการโครงการที่มีความสำคัญและการลงทุนสูงมากของประเทศ เช่น การจัดตั้งเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EECi ซึ่งมีความก้าวหน้าในด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาแผนที่นำทางเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ในเขต EECi ตามลำดับ
สำหรับการประชุมวิชาการประจำปีครั้งนี้ สวทช. หน่วยงานวิจัยและพัฒนาของประเทศ ผ่านการทำงานของ 4 ศูนย์เทคโนโลยีแห่งชาติ และสนับสนุนให้มีการนำผลงานวิจัยไปใช้ภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs สตาร์ทอัพ เกษตรกร และอุตสาหกรรม เพื่อสร้างขีดความสามารถด้าน วทน. ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางสู่ไทยแลนด์ 4.0 ในปีนี้เน้นการวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจแนวใหม่ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ จากยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ประเทศโดยมีเป้าหมายยกระดับศักยภาพของประเทศไปสู่ประเทศที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนตามแนวทางเศรษฐกิจแนวใหม่ 6 ด้าน ได้แก่ 1. เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) มุ่งเน้นใช้ความรู้ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ และต้นทุนความหลากหลายทางชีวภาพที่เป็นจุดแข็งของประเทศเป็นตัวขับเคลื่อน 2. เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มุ่งเน้นใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือทิ้งมาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง 3. เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) มุ่งเน้นประหยัดพลังงาน ลดความเสี่ยงที่จะทำให้สิ่งแวดล้อมเสียหาย ตอบสนองการพัฒนาที่ยั่งยืน 4. เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Intelligent Economy) เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิต เพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าและบริการ โดยใช้เวลาน้อยลง 5. เศรษฐกิจร่วมใช้ประโยชน์ (Sharing Economy)เป็นรูปแบบเศรษฐกิจที่ใช้พื้นฐานแนวคิดความร่วมมือและแบ่งปัน ทำให้เกิดรูปแบบสินค้าและบริการใหม่ สร้างรายได้แบบพึ่งพากัน และ 6. เศรษฐกิจผู้สูงวัย (Silver Economy) เป็นระบบที่นำความรู้เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่รองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุพึ่งพาตนเองได้
ทั้งนี้ การประชุม NAC2019 เริ่มขึ้นในวันที่ 25 - 28 มีนาคม 2562 โดยมีกิจกรรมหลัก คือ การสัมมนาวิชาการเป็นเวทีนำเสนอความก้าวหน้าของการวิจัยและพัฒนา และการประชุมเชิงปฏิบัติการ รวม 49 หัวข้อ การแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยและพัฒนาของ สวทช.และพันธมิตร ได้จัดโซนนิทรรศการเป็น 6 โซน ได้แก่ โซนเทิด พระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ และโครงการตามพระราชดำริ โซนพัฒนาเด็กและเยาวชน โซนสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร โซนงานวิจัยและพัฒนา โซนความร่วมมือภาคเอกชนและต่างประเทศ แและโซนผลิตภัณฑ์จากชุมชนเครือข่ายสวทช. การเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิจัยและทดสอบของ สวทช. และบริษัทผู้เช่า รวม 24 ห้องปฏิบัติการ และกิจกรรมสำหรับครูและเยาวชนในโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย โครงการมหาวิทยาลัยเด็กประเทศไทย โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาของโรงเรียนในชนบท โครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม หรือ Fabrication Lab เพื่อพัฒนาความเป็นนวัตกรสู่เด็กและเยาวชนไทย และโครงการ Coding at School Powered by KidBright รวม 11 กิจกรรม
นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กราบบังคมทูลรายงานและเบิกผู้เข้ารับพระราชทานรางวัลตามประเภทต่างๆ ในกิจกรรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการวิจัยที่ สวทช. ให้การสนับสนุนและส่งเสริม เพื่อให้เกิดบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ ที่จะนำทรัพยากรต่างๆ มาประยุกต์ให้เกิดนวัตกรรมหรือเทคโนโลยี ที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ ตลอดจนอาศัยการเชื่อมโยงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปกับระบบการศึกษา ทั้งในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยแก่เด็ก เยาวชน และบุคคลทั่วไป ผ่านในหลากหลายกิจกรรมทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึก
เพื่อสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีความตระหนัก รวมไปถึงสร้างให้เกิดนวัตกรรมด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระจายความรู้ออกสู่สังคมไทยให้ทั่วถึงและเท่าเทียม
สำหรับในปี 2561 สวทช. ดำเนินโครงการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการวิจัยที่สำคัญ 3 โครงการ ได้แก่ โครงการทุนนักวิจัยแกนนำ ประจำปี 2561 จำนวน 2 รางวัล โครงการการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 21 (National Software Contest: NSC2019) จำนวน 6 รางวัล และโครงการการแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 11 (The 11th Thailand Robot Design Contest: RDC 2018) จำนวน 1 รางวัล
จากนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัสเปิดการประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2562 ภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจแห่งอนาคตไทย ก้าวไกลด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม(Moving Towards Thailand’s Future Economy with Science, Technology and Innovation)” และเสด็จพระราชดำเนินทรงตัดแถบแพรเปิดนิทรรศการ และทอดพระเนตรนิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย และนิทรรศการผลงานวิจัย อาทิ การแสดงผลงานวิจัยทางด้านอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักที่มีความสําคัญต่อประเทศ มีมูลค่าการลงทุนสูง มีการใช้แรงงานจํานวนมาก และมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาสูงที่สุดเทียบกับอุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆ ของประเทศ โดยจัดแสดงในรูปแบบของ BCG Café & restaurant เทคโนโลยีและความร่วมมือเพื่อการพัฒนาคุณภาพสัตว์น้ำไทยอย่างยั่งยืน โครงความร่วมมืองานวิจัยทางด้านเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bioeconomy) เพื่อความยั่งยืน ระหว่าง สถาบัน Forschungszentrum Jülich สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และ สวทช. ไฮโดรเจลกักเก็บโปรตีนสำหรับอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์น้ำ นาโนวัคซีนเทคโนโลยีดูดซึมทางเหงือกต้านโรคในปลา TPMAP : ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า โครงการสื่อการสอนโปรแกรมมิ่งในโรงเรียน ต้นแบบอุปกรณ์สำหรับตรวจสอบค่าความถูกต้องและแม่นยำของหุ่นยนต์อุตสาหกรรม สานพลังเทคโนโลยียางพารา สานชุมชน สานอุตสาหกรรม น้ำยางพาราข้นชนิดใหม่ ParaFIT สำหรับการผลิตหมอนและที่นอนยางพาราโดยเฉพาะ ความร่วมมือและสื่อการเรียนรู้ Fabrication Lab โดยมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง สนุกกับเครื่องมือ/อุปกรณ์ Fabrication Lab โครงงานวิทยาศาสตร์ Smart Farm, Smart Energy, Smart Industry เพื่อส่งเสริมความเป็นนวัตกร โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร และสมาคมระบบกล้องวงจรปิดอัจฉริยะไทย เป็นต้น
พร้อมทั้งได้เสด็จเยี่ยมชมโรงงานผลิตพืช (Plant Factory) ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สวทช. ภายใต้โครงการพัฒนาพิเศษขนาดใหญ่ หรือ BIG ROCK ของรัฐบาล ซึ่งโรงงานผลิตพืชเป็นเทคโนโลยีการปลูกพืชในระบบปิดหรือกึ่งปิด ที่สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมและปัจจัยต่างๆ ให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชได้อย่างสมบูรณ์ เช่น ช่วงคลื่นแสง ความเข้มแสง อุณหภูมิ ความชื้น แร่ธาตุต่างๆ รวมถึงปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยใช้แสงจากหลอดไฟ LED สีต่างๆ เช่น สีแดงใช้เร่งดอก สีน้ำเงินบำรุงใบพืช ทดแทนแสงอาทิตย์จากธรรมชาติ อีกทั้งยังมีระบบกรองอากาศทำให้ปราศจากเชื้อโรคและแมลง ไม่ต้องใช้สารเคมีปราบศัตรูพืช และนักปรับปรุงพันธุ์พืชยังใช้องค์ความรู้ในการคำนวณและออกแบบการให้ความเข้มข้นของสารอาหารที่เหมาะสมตามช่วงวัยของพืชด้วย ส่งผลให้พืชเจริญเติบโตเร็วช่วยร่นระยะเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิต นอกจากนี้ผลผลิตที่ได้มีความสะอาดปลอดภัย ไม่มีสารตกค้าง คุณภาพดีและมีราคาสูงกว่าตลาดทั่วไปประมาณ 1.3 เท่า ซึ่งขณะนี้โรงงานผลิตพืช (Plant Factory) สวทช. สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วเป็นแห่งแรกของประเทศไทยบนพื้นที่ 1,200 ตารางเมตร ในอาคารกลุ่มนวัตกรรม 2 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี และได้เริ่มทดลองปลูกพืชสมุนไพร เช่น ใบบัวบก ฟ้าทะลายโจร รวมถึงพืชชนิดอื่นๆ เพื่อนำมาสกัดเป็นสารสำคัญมูลค่าสูงและนำไปพัฒนาเป็นสารออกฤทธิ์สำคัญในอาหารเสริม เวชสำอางเพื่อเพิ่มมูลค่าแก่พืชสมุนไพรในประเทศ
นอกจากนี้แล้วยังมีกิจกรรมพิเศษเปิดบ้าน สวทช. (NSTDA Open house) การเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิจัยและหน่วยงานทดสอบมาตรฐานต่างๆ ของ สวทช. ซึ่งจะผู้เยี่ยมชมจะได้พบกับอุปกรณ์และเครื่องมือในการวิจัยที่ ทันสมัยระดับโลก โดย สวทช. และประชาคมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ร่วมเปิดบ้านต้อนรับนักธุรกิจ นักอุตสาหกรรม และนักลงทุนที่สนใจ
26 มีนาคม 2562