จังหวะแผ่นดิน 25 ปี ยังดิ้นอยู่ โดย ทอดด์ ทองดี
ผมโตมาในบ้านที่คนเยอะและครอบครัวที่วุ่นวาย รัฐ Pennsylvania ประเทศสหรัฐอเมริกา เมืองเล็กๆ ที่ ชื่อ Scranton ที่มีตำนานการทำเหมืองแร่ ผมต้องทำงานหนัก ซ่อมท่อ ซ่อมส้วม กับพ่อตั้งแต่ 5-6 ขวบ ผมมีน้องชื่อแคลรี่ ซึ่งเป็นน้องสาวแท้ๆ ห่างกัน 1 ปี เธอหูหนวก และเป็นออทิสติก ผมเลยต้องออกไปข้างนอกบ่อยๆเพื่อหาเวลา หาความสุขให้กับตัวเอง ผมชอบที่จะใช้สมุดบันทึก มันเป็นวิธีเดียวที่จะสามารถสื่อสารกันได้ แคลรี่สอนให้ผมซาบซึ้งในบรรยากาศธรรมชาติ เป็นความสุขที่เราเข้าใจร่วมกันในตอนนั้น เมื่อโตมาก็มีโอกาสได้ใช้ชีวิตครึ่งนึงในเมืองและครึ่งหนึ่งบนภูเขา ทำให้ผมรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงในแต่ละฤดู ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูใบไม้ร่วงซึ่งเป็นฤดูที่งดงามมากแต่ก็เศร้าในคราเดียวกัน พอใกล้เวลาพลบค่ำ ผมก็รู้สึกลึกๆในใจว่าเราเป็นสัตว์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในบรรดาสัตว์ทั้งหลายบนโลก และธรรมชาติกำหนดให้มีความสมดุลกัน เรามีหน้าที่อยู่กับมันให้ได้ ผมจึงหาความสุขของแต่ละฤดู จนมีโอกาสได้เรียนมหาวิทยาลัย เรียนวิชาแพทย์พร้อมประวัติศาสตร์เอเซีย และเมื่อได้เรียนแพทย์ทางด้านพืชศาสตร์ โดยเฉพาะกัญชาและยาสมุนไพรต่างๆ และได้มีโอกาสทำงานวิจัยในเวลาเดียวกัน มีคนเรียนทุน FULBRIGHT และอาจารย์บอกว่าประเทศไทยดีที่สุดทางด้านนี้ เลยได้มาเรียนที่ คณะเภสัชกร จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย และเรียนปริญญาโท ด้านสมุนไพร 2 ปี ก็เลยได้อยู่ที่ประเทศไทย ในประเทศไทยผมได้อยู่กับธรรมชาติบ้าง นักดนตรีบ้าง และมีโอกาสได้เจอทีมงานวงซูซู วงคาราวาน และวงคาราบาว จนได้มีโอกาสได้ทำเพลงชุดแรกของตัวเองคือ “ เมืองไทย ข้างใน ข้างนอก” โดยการนำดนตรีพื้นบ้านมาผสมผสานกับดนตรีสากล และเล่าเรื่องราวของแต่ละพื้นที่ผ่านดนตรี ACOUSTIC ในการเดินทางเล่นคอนเสิร์ตและโชว์ตัว รวมถึงได้มีโอกาสได้ออกรายการโทรทัศน์ในประเทศไทยค่อนข้างเยอะ ผมจึงสังเกตุเห็นว่ามีนักดนตรีพิการตาบอด และคนพิเศษต่างๆและหลากหลายเชื้อชาติที่น่าสนใจมาก เลยเอาเรื่องราวและดนตรีของพวกเขาเหล่านั้นมาผสมผสานกับดนตรี และเรื่องราวที่เรารู้จักจนกลายมาเป็นเพลงชุด “จังหวะแผ่นดิน” ซึ่งใช้เวลากว่า 2 ปี ในการรังสรรค์และตกผลึกออกมากับ WARNER MUSIC เมื่อ 25 ปีที่แล้ว (ขอบคุณพี่แอ๊ด คาราบาว อีกครั้ง ที่ช่วยนำผลงานนี้ได้เผยแพร่ออกสู่สาธารณะชน )
เพลงจังหวะแผ่นดินที่มีเรื่องราวจาก 4 ภาคของประเทศไทย ได้แก่ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ เป็นปรากฎการณ์ใหม่ในวงการบันเทิงของประเทศไทย และใครจะเชื่อว่ามันสามารถสร้างรายได้ได้ด้วย เมื่อประสบความสำเร็จระดับหนึ่งก็มีคนถามถึงเรื่องราวในเนื้อเพลงมากมาย จนออกมาเป็นหนังสือชุด 5 เล่ม ได้แก่ จังหวะแผ่นดิน ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคเหนือ และหนังสือพิเศษ ที่เป็นกลอนจากทุกจังหวัดของประเทศไทยนั่นคือ “เพลงแผ่นดิน” จนมีคนอยากเห็นเป็นการแสดงและเราได้นำศิลปินที่มีความพิการทางด้านต่างๆ ร่วมกับศิลปินที่เรารู้จักมาจัดคอนเสิร์ตตั้งแต่คอนเสิร์ตเล็กๆ ตามมหาวิทยาลัย จนถึงงานใหญ่ที่นำศิลปินหลากหลายมารวมกันก็ทำมาเรื่อยๆ หลังจากที่เพลง และหนังสือ “ จังหวะของแผ่นดิน “ ผ่านไป 10 ปี ผมเห็นการเปลี่ยนแปลงของโลก ผมเห็นการไม่ซาบซึ้งกับ จังหวะของแผ่นดินของคนในเมือง และรู้สึกว่าเราควรจะมีการจัดงานที่บอกถึงเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมชาติ วัฒนธรรม และสถาบันครอบครัว ( FAMILY OF MAN ) ที่เป็นเทศกาลดนตรีที่เน้นด้านสีสัน โดยได้รับการสนับสนุนจาก สิงห์ คอร์เปอเรชั่น ในปี 2006 (2549) จัดที่สะพานพระราม 8 โดยไม่มีดารา แต่มีศิลปินจาก 20 กว่าประเทศ มีการแสดงของคนพิการด้านต่างๆ การแสดงจากนักดนตรีพื้นบ้านแต่ละที่ แต่ใครจะเชื่อ! มีคนมาเที่ยวเยอะมาก จนมีคนจากศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์มาติดต่อให้เข้าไปจัดงานอีกครั้งในเทศกาลจังหวะแผ่นดิน World Musiq-World BBQ ครั้ง 3 - 11 โดยเปลี่ยน Theme ทุกปี และได้รับความนิยมอย่างมาก จากคนที่ชื่นชอบดนตรี อาหาร ศิลปะวัฒนธรรม จากทั่วไทยทั่วโลก
ในเวลาคู่ขนานกับการจัดเทศกาลจังหวะแผ่นดิน บริษัท Work Point ได้เชิญผมได้ร่วมรายการใหม่ชื่อคุณพระช่วย ที่เอาศิลปะวัฒนธรรมไทยมาประยุกต์ และใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตรายการ เป็นเวลากว่า 10 ปี 600 กว่าตอน จนกลายเป็นเสมือนการเข้าโรงเรียนในแต่ละอาทิตย์เวลาไปอัดรายการ เพราะได้เจอศิลปินที่น่าค้นหาทุกครั้ง และในช่วงหลังรายการคุณพระช่วยได้ร่วมกับเทศกาลจังหวะของแผ่นดิน และเทศการอื่นๆทั่วประเทศไทย ที่เกิดจากการเอาศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านท้องถิ่นนั้น มาขยายให้เป็นสากล ตัวอย่างเช่นงานเมืองลุงโลก ที่จังหวัดพัทลุง ที่นำเอาศิลปะของหนังตะลุงกว่า 20 ประเทศมารวมกัน หรืองานอุดรโลก มรดกโลก ที่จัดที่บ้านเชียง นำมรดกโลกจาก 20 ประเทศ มาร้องและแสดงเรื่องราวต่างๆที่จังหวัดอุดรธานี หรือแม้แต่งานที่จังหวัดระยอง FUNKKY FRUIT FASTSIVAL ที่นำเรื่องราวผลไม้จากแต่ละทวีปมารวมกับผลไม้ตะวันออกของไทย
ในเวลาเดียวกัน แต่ละจังหวัดได้เข้ามาติดต่อขอให้ผมได้เข้าไปในแต่ละจังหวัดและให้นำจุดเด่นหรือวัฒนธรรมของแต่ละจังหวัดดึงออกมาสู่สากล กลายเป็นว่าใน 2 ปีที่ผ่านมา ผมได้สร้างสรรค์ผลงานเพลงที่เป็นแนว WORLD MUSIQ เช่น ร้อยเอ็ดโหวด 101 , เลยมองเลยหน้ากาก , อีสานใต้ เพลง”ไฟของข้อยแสงของเจ้า” นำมารวมกับเทศกาลย่อยจังหวะของแผ่นดิน บางทีเป็นเทศกาลมื้อเดียวจังหวัดมุกดาหารที่รวมชาติพันธุ์หลากหลายกลุ่ม จังหวัดร้อยเอ็ด เราที่บึงพลาญชัย มีคนร่วมรำ 10,101 คน
ใน 25 ปีที่จังหวะแผ่นดินได้ดิ้นและมีชีวิตอยู่ กลายเป็นเวทีสำหรับศิลปินพื้นบ้าน พิการ ที่หลากหลายเชื้อชาติ นานาชาติ (60 กว่าประเทศ) และคนอีกมากมายรวมกว่าหมื่นกว่าชีวิต ที่ได้ผ่านเวทีนี้ ทำให้เราเชื่อมั่นว่าจังหวะแผ่นดินนั้น ยังดิ้นอยู่ในใจของเราทุกคน และเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์เราเชื่อมโยงได้จากแก่นข้างในสู่บุคลิกภายนอก ให้เรามั่นใจว่าเราไม่ได้โดดเดี่ยว เราไม่ได้เหงา เราเป็นสมาชิกในครอบครัวของประเทศไทยและโลกเรา
29 มีนาคม 2562