จุฬาฯ จับมือ เซ็นทรัลแล็บไทย ประสานจุดแข็ง นำนวัตกรรมและเทคโนโลยี ยกระดับ SME ไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย คณะวิทยาศาสตร์ และ หลักสูตรธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม บัณฑิตวิทยาลัย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันกับ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ เซ็นทรัลแล็บไทย เพื่อร่วมพัฒนาองค์ความรู้และดำเนินกิจกรรม เพื่อเพิ่มพูนและขยายศักยภาพของทั้งสององค์กร พร้อมผนึกกำลังกันนำจุดแข็งเข้าให้การสนับสนุน ส่งเสริม ยกระดับ และพัฒนาทักษะ แก่ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ SME ให้สามารถแข่งขันได้ทั้งในและต่างประเทศ บนพื้นฐานขององค์ความรู้ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่ทันสมัยและรวดเร็ว เผยความร่วมมือระยะแรกเตรียมจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเชิงลึกเพื่อนำเทคนิค GC-MS ขั้นสูงมาวิเคราะห์สารที่มีความซับซ้อน อาทิ ในกัญชา อาหารไทย เมล็ดกาเเฟคั่ว ไวน์ ตลอดจนการนำเอานวัตกรรมจากห้องแล็บของทั้งสององค์กร มาเผยแพร่และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยนำไปต่อยอด ตลอดจนการให้คำปรึกษาการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำให้กับองค์กรธุรกิจ
ศาสตราจารย์ ดร.พลกฤษณ์ แสงวณิช คณบดีคณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกันในครั้งนี้ว่า นอกจากจะเพื่อการแลกเปลี่ยน สนับสนุน และร่วมพัฒนาขีดความสามารถด้านองค์ความรู้ใหม่ การทำงานวิจัย ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกันแล้ว เป้าหมายความร่วมมือครั้งนี้ยังมุ่งไปที่การให้บริการสังคม ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจ SME ของประเทศให้ได้มีโอกาสเข้าถึงองค์ความรู้ งานวิจัยและนวัตกรรม ตลอดจน การสนับสนุนด้านการทดสอบและวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ หรือ บริการด้านอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการการพัฒนานวัตกรรมของผู้ประกอบการ ในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมอาหารและ เครื่องดื่ม การเกษตร ประมง ปศุสัตว์ เครื่องสำอาง และสมุนไพร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในระดับโลก โดยมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นพื้นฐานในการขับเคลื่อน
“คณะวิทยาศาสตร์ฯ เรามีผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และผลงานนวัตกรรมที่มีศักยภาพและพร้อมต่อยอดในเชิงธุรกิจอยู่เป็นจำนวนมาก รวมถึงยังมีเครื่องมือและบริการต่างๆที่มีศักยภาพและพร้อมให้บริการสำหรับบุคคลหรือภาคธุรกิจภายนอกอย่างเช่น ห้องปฏิบัติการวิจัยและทดสอบอาหาร (Food Research and Testing Laboratory :FRTL) ศูนย์วิทยาศาสตร์ประสาทสัมผัสเชิงโมเลกุล (Center of Molecular Sensory Science ) ฯลฯ ตลอดจนมีการให้บริการทางวิชาการแก่สาธารณะชนอยู่เป็นระยะๆ ความร่วมมือกันในครั้งนี้จะสร้างการรับรู้และช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่คณะฯ มีอยู่และนำไปต่อยอดได้มากขึ้น”
รองศาสตราจารย์ ดร.ธรรมนูญ หนูจักร คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า ความร่วมมือที่ เกิดขื้นของทั้งสองหน่วยงานว่า จะสร้างให้เกิดศูนย์กลางหรือประตูเชื่อม ระหว่างภาคธุรกิจกับคณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีความพร้อมทั้งองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม และเครื่องมือ จากหน่วยงานและศูนย์ต่างๆภายในคณะวิทยาศาสตร์ โดยผ่านหลักสูตรธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม หรือ CUTIP ซึ่งเป็นหน่วยงานสาขาสังกัดบัณฑิตวิทยาลัย ที่จะเข้ามาเชื่อมโยง ปัญหาและความต้องการ ระหว่างภาคธุรกิจ กับเทคโนโลยี นวัตกรรม ตลอดจนองค์ความรู้ และสาธารณูปโภคของหน่วยงานต่างๆในคณะวิทยาศาสตร์ฯ
“จากความร่วมมือนี้จะทำให้ภาคสังคม ธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME เข้าถึงคณะวิทย์จุฬาฯได้ง่ายขึ้น และขณะเดียวกับก็จะช่วยให้ภาคการศึกษาได้เข้าใจความต้องการของธุรกิจมากขึ้นจากเสียงสะท้อนของพันธมิตรอย่างเซ็นทรัลแล็บไทย และการได้คุยกับผู้ประกอบการตรง ซึ่งจะเป็นแนวทางการทำวิจัยของคณาจารย์และนิสิตที่ต้องการทำงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์ของสังคมและธุรกิจ” รศ.ดร.ธรรมนูญกล่าว
ศาสตราจารย์ ดร.นงนุช เหมืองสิน ผู้อำนวยการหลักสูตรธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรมฯหรือ CUTIP กล่าวเสริมว่า ภายหลังจากประกาศความร่วมมือระหว่างกันในวันนี้ หลักสูตร CUTIP ร่วมกับ คณะวิทย์และเซ็นทรัลแล็บไทย จะจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพและยกระดับให้กับผู้ประกอบการ SME ใน 2 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมแรก จะจัด อบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง นำ เทคนิคแก๊สโครมาโทรกราฟี-แมสสเปคสเปคโทรมิเตอร์ (Gas Chromatograph-Mass Spectrometer หรือ GC-MS) มาวิเคราะห์สารที่มีความซับซ้อน อาทิ ในกัญชา อาหารไทย เมล็ดกาเเฟคั่ว ไวน์ ให้กับผู้ประกอบการไทย และกิจกรรมที่สองคือ กิจกรรมจากหิ้งสู่ห้าง เป็นการเปิดศูนย์ทดสอบศูนย์ปฏิบัติการ และแนะนำงานวิจัย นวัตกรรม ตลอดจนผลงานการค้นคว้าของคณาจารย์นิสิตระดับปริญญาโทและเอก ให้กับภาคธุรกิจที่สนใจได้นำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์หรือเข้ามาศึกษาเพื่อนำไปพัฒนาต่อไป
คุณนราวิทย์ เปาอินทร์ กรรมการผู้อำนวยการ เซ็นทรัลแล็บไทย กล่าวว่า ในฐานะแล็บของรัฐ ภารกิจหลักของเราคือการให้บริการตรวจทดสอบสินค้าเกษตรและอาหารเป็นหลัก ด้วยความรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ สำหรับบริการด้านการส่งออกแบบรวดเร็วเบ็ดเสร็จ (One Stop & Fast Services) เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ประกอบการส่งออก-นำเข้า ผู้ผลิต และผู้บริโภค ทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังให้บริการตรวจรับรองมาตรฐานนอกห้องปฏิบัติการ ( Non Lab ) โดยมุ่งเน้น พัฒนามาตรฐานและรับรองกระบวนการผลิตและผลผลิตของภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมรวมถึงพัฒนาบุคลากรและเสริมสร้างบุคลากรให้มีประสิทธิภาพ อาทิเช่น การสอบระบบการผลิตโรงงาน GMP/ HACCPการตรวจรับรองมาตรฐานสอบเทียบเครื่องมือ เช่น เครื่องเป่าแอลกอฮอล์ บริการฝึกอบรมทางห้องปฏิบัติการ ISO/IEC 29990 บริการโปรแกรมทดสอบควารมชำนาญห้องปฏิบัติการ ISO/IEC 17043 และบริการที่ปรึกษาระบบ ISO/IEC 17025
“ที่ผ่านมา เซ็นทรัลแล็บไทย ได้ดำเนินกิจกรรมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ กระบวนการเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมอนามัย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจกขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อช่วยเหลือสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการ SME ไทยอย่างรอบด้าน และเชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรมสู่การพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้วยกลไกการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสม ตลอดจนการจัดอบรมทางวิชาการ การศึกษางานวิจัยต่างๆ ทางห้องปฏิบัติการร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่ง เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ”
ปัจจุบัน เซ็นทรัลแล็บไทย มีสาขาให้บริการครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร สงขลาและกรุงเทพ พร้อมเตรียมขยายงานให้บริการให้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น โดยจะเปิดจุดรับตัวอย่างแห่งใหม่ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในต้นเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อเป็นจุดรองรับการรับตัวอย่างจากผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนส่งไปยังสาขาให้บริการ
สำหรับความร่วมมือระหว่าง หลักสูตรธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดนวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ เซ็นทรัลแล็บไทย ในครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่ทั้งสองหน่วยงานจะช่วยกันส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจ พัฒนาขีดความสามารถทางธุรกิจเพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการของประเทศไทย มีศัยกภาพในการแข่งขันกับนานาประเทศไทยได้ “เพื่อยกระดับมาตรฐานไทยสู่สากล” โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ ทั้งยังความร่วมมือด้านอื่นๆ ให้กับบุคลากรของทั้งสองหน่วยงานต่อไป
30 เมษายน 2562