เทศกาล ไหว้บ๊ะจ่าง

 วันไหว้บ๊ะจ่าง 2562 ตรงกับวันที่ 7 มิถุนายน เป็นอีกหนึ่งเทศกาลที่คนไทยชื้อสายจีนยังคงยึดถือปฎิบัติและให้ความสำคัญเสมอมา  หลายคนคงสงสัย และอยากรู้ว่าทำไมจึงต้องมีการไหว้บ๊ะจ่าง มีที่อย่างไร และมีความสำคัญอย่างไรบ้าง เรามาหาคำตอบด้วยกันเลย

ประวัติเทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง

           สำหรับเทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง ???? ตวนอู่เจี๋ย หรือเทศกาลตวงโหงว? เป็นเทศกาลที่สืบทอดกันมาแต่โบราณของประเทศจีน ตรงกับวันที่ 5 เดือน 5 ตามปฏิทินจีน (จันทรคติ) ของทุกปี เพื่อเป็นการระลึกถึงวันที่ ชวีหยวน ขุนนางผู้รักชาติแห่งแคว้นฉู่ นอกจากนี้ ในประเทศจีน บริเวณแม่น้ำฉางเจียน (แยงซีเกียง), ฮ่องกง, ไต้หวัน, มาเก๊า ยังมีการละเล่นแข่งเรือมังกร ที่เป็นการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่ในเทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง หรือ "ขนมจ้าง"

           โดยความเป็นมาของเทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง หรือขนมจ้าง ตามตำนานเล่าว่า ในสมัยชุนชิว-จั้นกั๋ว ประเทศจีนถูกแบ่งเป็นแคว้นเล็ก ๆ จำนวนมาก แคว้นฉินเป็นแคว้นที่เข้มแข็งที่สุดในขณะนั้น ส่วนแคว้นฉู่เป็นแคว้นที่อ่อนแอและเล็ก ซึ่งมักถูกแคว้นฉินกดขี่ข่มเหง "ชวีหยวน" ซึ่งเป็นขุนนางตงฉิน รับราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ถือเอาประโยชน์ของราษฎรเป็นที่ตั้ง เขาห่วงใยประเทศชาติบ้านเมืองของตนมาก จึงเสนอให้แคว้นฉู่ร่วมมือกับแคว้นฉีเพื่อต่อต้านแคว้นฉิน แต่ก็ถูกขุนนางกังฉินคอยใส่ร้ายป้ายสีต่อองค์ฮ่องเต้เสมอ ๆ

           จนฮ่องเต้เริ่มมีใจเอนเอียง ชวีหยวนรู้สึกทุกข์ระทมตรมใจมาก จึงได้แต่งกลอนขึ้นเพื่อคลายความทุกข์ใจ กลอนบทนั้นมีชื่อว่า "หลีเซา" ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความห่วงใยบ้านเมืองและราษฎร จนต่อมาฮ่องเต้แคว้นฉู่ถูกกลลวงของแคว้นฉิน และสวรรคตในแคว้นฉิน รัชทายาทองค์ต่อมาจึงได้ขึ้นครองราชบัลลังก์แทน

หลังจากที่ฮ่องเต้องค์ใหม่ขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้ทรงหลงเชื่อคำยุยงของเหล่าขุนนางกังฉินพวกนั้น ในที่สุดจึงได้มีพระบรมราชโองการให้เนรเทศชวีหยวนออกจากแคว้นฉู่ไป ชวีหยวนเศร้าโศกเสียใจมาก หลังจากเดินทางรอนแรมมาถึงแม่น้ำเปาะล่อกัง (บางตำราว่าเป็นแม่น้ำแยงซีเกียง) ชวีหยวนจึงได้ตัดสินใจกระโดดน้ำตาย เพื่อแสดงออกถึงความรู้สึกจงรักภักดีต่อประเทศชาติและความคับแค้นใจที่มีต่อสังคม ในวันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 เมื่อ 278 ปีก่อนคริสต์ศักราช

           เมื่อชาวแคว้นฉู่รู้ข่าวการฆ่าตัวตายของชวีหยวน ต่างพากันมายังริมแม่น้ำ ชาวประมงก็ออกพายเรือหาเพื่อหวังว่าจะงมเขาขึ้นมาได้ ในขณะที่ค้นหาศพ บางคนก็นำข้าวปั้น ไข่ต้มที่เตรียมไว้ให้ชวีหยวนโยนลงแม่น้ำ เพื่อหวังว่าปลา ปู กุ้ง หอยในน้ำจะกินอาหารพวกนี้แล้วไม่ไปกัดกินร่างของชวีหยวน จากนั้นทุกปีเมื่อครบรอบวันตายของชวีหยวน ชาวบ้านจะนำเอาอาหารไปโปรยลงแม่น้ำเปาะล่อกัง

           เมื่อทำมาได้สองปี ก็มีชาวบ้านผู้หนึ่งฝันเห็นชวีหยวนที่มาในชุดอันสวยงาม และได้กล่าวขอบคุณชาวบ้านที่นำเอาอาหารไปโปรยเพื่อเซ่นไหว้ แต่ชวีหยวนบอกว่าอาหารเหล่านั้นได้ถูกสัตว์น้ำกินเสียจนหมด เนื่องจากบริเวณนั้นมีสัตว์น้ำอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ชวีหยวนจึงแนะนำให้นำอาหารเหล่านั้นห่อด้วยใบไผ่หรือใบจากก่อนนำไปโยนลงน้ำ

          ในปีต่อมาชาวบ้านต่างก็ทำตามที่ชวีหยวนแนะนำ ชวีหยวนก็ได้มาเข้าฝันชาวบ้านอีกว่าได้กินมากหน่อย แต่ก็ยังโดนสัตว์น้ำแย่งไปกินได้ ชาวบ้านต้องการให้ชวีหยวนได้กินอาหารที่พวกเขาเซ่นไหว้ไปให้อย่างอิ่มหนำสำราญ จึงได้ถามชวีหยวนว่าควรทำเช่นไรดี จึงได้คำแนะนำว่าเวลาที่จะนำอาหารไปโยนลงแม่น้ำให้ตกแต่งเรือเป็นรูปมังกร เมื่อสัตว์น้ำทั้งหลายได้เห็นก็จะนึกว่าเป็นเครื่องเซ่นของพระยามังกร จะได้ไม่กล้าเข้ามากิน จึงทำให้เป็นที่มาของประเพณีการไหว้ขนมจ้าง (ขนมบ๊ะจ่าง) และประเพณีการแข่งเรือมังกรมาจนถึงปัจจุบัน

การไหว้บ๊ะจ่าง

          การไหว้บ๊ะจ่างในปัจจุบัน คนจีนจะไหว้ในตอนเช้า โดยไหว้ด้วยธูป 3 ดอก หรือ 5 ดอก การไหว้ด้วยธูป 5 ดอก เพื่อระลึกถึงครูบาอาจารย์ พ่อแม่ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จะเข้าหลัก 5 ธาตุ หรือ โหงวเฮ้ง ของจีน ประกอบด้วย ธาตุดิน ทอง น้ำ ไม้ และไฟ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวกับวิถีชีวิตโดยตรง และถ้าเป็นการไหว้ในไทย ช่วงเช้าก็จะไหว้เจ้าและบรรพบุรุษ แต่ที่พิเศษหน่อยก็ตรงที่มีบ๊ะจ่างเพิ่มเข้ามาด้วย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

 Kapook.com

7 มิถุนายน 2562


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai