“เส้นทางทวารวดี มีดีต้องโชว์”
กิจกรรมเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ภายใต้กิจกรรม “เส้นทางทวารวดี มีดีต้องโชว์” ในครั้งนี้เพื่อเป็นการรื้อฟื้นเส้นทางความเจริญในอดีตสมัยทวารวดี ซึ่งเชื่อมโยงกัน 4 จังหวัด คือ สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี และ นครปฐม ให้คนรุ่นหลัง หรือนักท่องเที่ยวได้เข้าไปศึกษา เข้าไปท่องเที่ยว ได้เห็นขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม เพื่อรำลีกถึงความเจริญที่ผ่านมา กิจกรรม “เส้นทางทวารวดี มีดีต้องโชว์” มีอะไรมาโชว์กันบ้างเชิญติดตามได้เลยค่ะ
จังหวัดสุพรรณบุรี
วัดเขาทำเทียม เป็นวัดเก่าแก่มาแต่โบราณสันนิษฐานว่าจะเป็นวัดแห่งแรกในประเทศไทยหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ 300 ปีพระอรหันต์ปัญจวัคคีย์ได้ออกมาเผยแพร่ศาสนาดังเมืองสุวรรณภูมิ และได้จารึกภาษาสันสกฤตโบราณไว้ว่าปุษยคิริ หรือปุษยคีรี ซึ่งแปลว่าภูเขาดอกไม้เนื่องจากบนภูเขามีดอกไม้ที่สวยงามนั่นเอง และห้ามพลาดชมการแกะสลักพระใหญ่บนหน้าผามังกรบินตามโครงการพระพุทธรูปแกะสลักภูผาใหญ่ที่สุดในโลก เกิดจากการดำริของพระเทพสุวรรณโมลี เจ้าอาวาสวัดป่าเลไลย์ สร้างขึ้นบนหน้าผาเขาทำเทียมหรือภูเขามังกรบิน
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอู่ทองสถาน เมืองอู่ทองสุพรรณบุรี ใจกลางอารยธรรมทวารวดี ซึ่งที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอู่ทองสถานที่แห่งนี้รวบรวมโบราณวัตถุสมัยทวารวดีชิ้นเอกสำคัญจำนวนมากเช่นพระพุทธรูปปูนปั้น ศิลปะอมราวดีแบบอินเดีย ลูกปัดแก้ว เหรียญกษาปณ์ เหรียญโรมัน ซึ่งนำมาเก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง ชิ้นสำคัญชนิดพลาดชมไม่ได้ได้แก่ประติมากรรมดินเผาพระพุทธรูป 3 รูปกำลังอุ้มบาตร ถึงซึ่งรายจีวรเป็นศิลปะอมราวดี พุทธศตวรรษที่ 4-10 นับเป็นหลักฐานบ่งชี้ของการเผยแพร่พุทธศาสนาในยุคแรกเริ่ม และนับเป็นหลักฐานแสดงถึงอิทธิพลศิลปะอินเดียที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย เครื่องทองสมัยทวารวดีนับเป็นเซตเครื่องประดับทองสำคัญเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยอายุราว 1200 - 1600 ปี และธรรมจักรศิลาศิลปะทวารวดีที่แกะลวดลายสวยงาม
จังหวัดกาญจนบุรี
อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ สร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธศาสนาสถาน ในพุทธศาสนานิกายมหายานรูปแบบคล้ายกับปราสาท ที่สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พ.ศ. 1720 ถึง 1780 กษัตริย์ขอมนักสร้างปราสาทกรมศิลปากร ขุดพบโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระพุทธรูปปางนาคปรก และ พระนางปรัชญาปารมิตา ศิลปะสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ ตั้งอยู่บริเวณที่ราบริมฝั่งทิศเหนือของแม่น้ำแควน้อยพื้นที่โดยรอบอบด้วยภูเขาขนาดใหญ่ไม่สูงมากนัก เป็นโบราณสถานจะมีกำแพง และคูคันดินเป็นชั้นขั้นแนวกำแพง ดังกล่าวมีลักษณะเกือบเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีแม่น้ำแควน้อยไหลผ่าน ทางทิศใต้ดังนั้นพื้นที่ด้านนี้จึงขยายออกไปตามแนวแม่น้ำ สำหรับทิศตะวันออก ทิศตะวันตก และทิศเหนือ แนวกำแพงเกาะกันเป็นรูปสี่เหลี่ยม รอบนอกกำแพงจะเป็นคูคันดินล้อมรอบ โดยอยู่เฉพาะด้านตะวันตกปรากฏสร้างคันดินอยู่ถึง 7 ชั้น กำแพงคูดินล้อมรอบกลุ่มโบราณสถานสำคัญ ซึ่งประกอบด้วยสถานสำคัญโบราณสถานหมายเลข 1 ถึง 4 กำแพง และประตูคันดินสระน้ำ และก่อสร้างอื่นๆ ปราสาทเมืองสิงห์เป็นสถานที่เหมาะสำหรับการมาท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์หรือมาพักผ่อนมีบ้านพัก ไว้รองรับนักท่องเที่ยว และยังยังเคยใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำละครเรื่องนาคีอีกด้วย
สะพานข้ามแม่น้ำแคว สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยกองทัพญี่ปุ่นได้เกณฑ์เชลยศึกสัมพันธมิตร สร้างทางรถไฟสายยุทธศาสตร์ แห่งนี้ซึ่งการสร้างเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะความทารุณของสงคราม และโรคภัยตลอดจนขาดอาหารทำให้เชลยศึกต้องเสียชีวิตลงเป็นจำนวนมาก
จังหวัดราชบุรี
จังหวัดราชบุรี เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่อาณาจักรทวารวดีเคยรุ่งเรืองมาแล้วในอดีต มีสถานที่หลายแห่งที่หลงเหลือร่องรอยของศิลปะทวารวดีเอาไว้
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติราชบุรี ที่นี่เป็นสถานที่รวบรวมหลักฐานโบราณคดี ที่สำคัญสมัยทวารวดี เช่น พระพุทธรูปดินเผาพระโพธิสัตว์ รวมถึงประติมากรรมรูปคน สัตว์ ยักษ์ มาร ที่ทำเป็นลวดลายประดับองค์เจดีย์ ประติมากรรมรูปพ่อค้าชาวตะวันออกกลาง ฯลฯ และสิ่งที่น่าสนใจในพิพิธภัณฑ์นี้คือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี ศิลปะลพบุรี สมัยพุทธศตวรรษที่ 18 ซึ่งพบเพียง 5 ชิ้นในประเทศ พระโพธิสัตว์องค์นี้เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าวัฒนธรรมจากขอมได้เข้ามาแทนที่วัฒนธรรมทวารวดีที่เสื่อมอำนาจลง
อุโบสถทองคำ ณ วัดพระศรีอารย์ อำเภอโพธารามจังหวัดราชบุรี แสดงถึงความยิ่งใหญ่อลังการแห่งพลังศรัทธาของชาวราชบุรีในการก่อสร้างอุโบสถทองคำมูลค่ากว่า 100 ล้านใช้เวลาสร้างนานถึง 37 ปี
วัดมหาธาตุวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 มีพระปางก่อด้วยศิลาแลงสูง 12 วา เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
พระปรางค์ประธาน เป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 18 และได้รับการซ่อมแซมเพิ่มเติม ในสมัยอยุธยาตอนต้น ตรงส่วนที่เป็นซุ้มด้านตะวันออก และภาพจิตรกรรมภายใน ประกอบด้วยพระปรางค์ประธาน และพระปรางค์บริวาร 3 องค์ บนฐานเดียวกัน มีการตกแต่งองค์พระปรางค์ทั้งหมดด้วยลวดลายปูนปั้นอย่างงดงาม ด้านตะวันออกของพระปรางค์มีบันไดทางขึ้น และมีมุขยื่น ภายในคูหาเชื่อมต่อกับพระปรางค์ ผนังภายในองค์พระปรางค์ทุกด้านมีภาพจิตรกรรมรูปอดีตพระพุทธเจ้า
จิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว
เป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของชุมชนนำโดยดร.อุดม สมพร และหลายองค์กรในพื้นที่ ก่อสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2550 ด้วยความร่วมมือของวัดโขลงสุวรรณคีรี มูลนิธิพัฒนาประชากรตำบลคูบัว และศูนย์สืบทอดศิลปะผ้าจกราชบุรี ชมรมชาวไท-ยวน ราชบุรี โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณการจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี เพื่อเป็นประโยชน์แก่สาธารณะในแง่การสืบทอดวัฒนธรรมไท-ยวน ปัจจุบันหลงเหลืออยู่เพียงแค่ภาษาพูดและการทอผ้าจก ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมการแต่งกายของผู้หญิงไท-ยวน และจัดแสดงวิถีชีวิตชาวไทย-ยวน เช่นวิธีการกิน วิธีการคลอด วิธีการอยู่ไฟ และการทอผ้า ให้ได้ชมกันอีกด้วย
จังหวัดนครปฐม
จังหวัดนครปฐม ที่นี่เคยเป็นอาณาจักรทวารวดีที่รุ่งเรืองมาก่อน ซึ่งเห็นได้จาก องค์พระปฐมเจดีย์ ปูชนียสถานอันสำคัญของประเทศไทย ตั้งอยู่ในตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม
องค์พระปฐมเจดีย์ เป็นปูชนียสถานอันสำคัญของประเทศไทย อยู่ภายในวัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร มีประวัติความเป็นมายาวนาน เชื่อว่าเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขององค์พระโคตมพุทธเจ้า
องค์พระปฐมเจดีย์ เป็นพระเจดีย์ใหญ่ รูป ระฆังคว่ำ ปากผายมหึมา โครงสร้างเป็นไม้ซุง รัดด้วยโซ่เส้นมหึมาก่ออิฐ ถือปูน ประดับด้วยกระเบื้องปูทับ ประกอบด้วยวิหาร 4 ทิศ กำแพงแก้ว 2 ชั้น ถือเป็นเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุด เป็นอันดับ 1 ของประเทศไทยอีกด้วย เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ของพระพุทธเจ้า เป็นที่เคารพสักการบูชาของบรรดาพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ทางวัดกำหนดให้มีงานเทศกาลนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ ในวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 12 ถึง วันแรม 5 ค่ำ เดือน 12 รวม 9 วัน 9 คืน เป็น ประจำทุกปี
นมัสการองค์พระร่วงโรจนฤทธิ์เพื่อความเป็นสิริมงคล
การได้ร่วมเดินทางกับ “เส้นทางทวารวดี มีดีต้องโชว์” 4 จังหวัด ครั้งนี้ถือว่าเป็นการท่องเที่ยวที่ได้รับความรู้ ประวัติความเป็นมาทางประวัติศาสตร์สมัยทวารวดี พร้อมความเพลิดเพลิน และยังเพิ่มเติมแหล่งท่องเที่ยว ในแต่ละจังหวัดมีดีมาโชว์อีกด้วย
ขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตาม โอกาสหน้าพบกันใหม่นะคะ
ขอขอบคุณ
ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสุพรรณบุรี
บริษัท ประชาคม มัลติมีเดีย จำกัด
ภาพ : วิทยา ตั๋นเจริญ / พะลาท คำหอม
28 กันยายน 2560